หลายประเทศทั่วโลกเริ่มหันมาใช้มาตรการทางการค้าหลายรูปแบบ เพื่อกดดันให้ประเทศคู่ค้าดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงประเทศไทยเองก็กำลังจะนำมาตรการเหล่านี้มาปรับใช้ในประเทศ การเข้าใจเรื่องภาษีคาร์บอน จึงมีความจำเป็นอย่างมากต่อผู้ประกอบการ SME ไทย โดยเฉพาะธุรกิจที่พึ่งพารายได้หลักจากการส่งออก และกลุ่มที่กำลังหาโอกาสใหม่ๆ ในการทำธุรกิจ
THE SME HANDBOOK by UOB เอพิโสดที่ 2 ของซีซัน 8 นี้ เฟิร์น-ศิรัถยา อิศรภักดี ชวน บุญรอด เยาวพฤกษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะ ครีเอจี้ จำกัด ผู้มีประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมมากว่า 20 ปี มาร่วมทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีคาร์บอน รวมถึงความท้าทายที่ SME ต้องรู้และต้องรีบทำ
อาจจะเริ่มจากการปูพื้นฐานก่อนเรื่องก๊าซเรือนกระจก ก๊าซเรือนกระจก คือก๊าซที่มีส่วนประกอบของคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 70% ทำให้หลายคนติดปากว่า ก๊าซคาร์บอน ซึ่งจริงๆ ก๊าซเรือนกระจกไม่ใช่ผู้ร้ายเสมอไป โลกเรามีชั้นบรรยากาศและมีอุณหภูมิที่เหมาะสมได้เพราะเรามีก๊าซเรือนกระจกที่สมดุล ที่ผ่านมาโชคดีที่โลกเราก๊าซเรือนกระจกมีความสมดุลมาตลอด ดังนั้นในหลายประเทศเลยไม่เคยออกกฎหมายมากำกับดูแล ต่างจากมลพิษอื่นๆ แต่วันนี้ก๊าซเรือนกระจกมีมากเกินไปจนเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม วันนี้จึงมีการควบคุมให้ก๊าซเรือนกระจกกลับมาสมดุล เกิดเครื่องมือในการกำกับดูแลเป็นระบบภาษีหรือการจ่ายค่าใช้จ่ายแทน คือคุณมีสิทธิ์ในการปล่อยก๊าซแต่ก็เป็นไปตามกลไกราคาคาร์บอน
ดังนั้นราคาภาษีคาร์บอน คือการ Put a Price on Carbon ใครปล่อยคนนั้นเป็นคนจ่าย ปัจจุบันก๊าซเรือนกระจก 80% ปล่อยฟรีอยู่ไม่มีใครเป็นคนจ่าย แต่จริงๆ ถ้ามาคิดดูแล้วคนที่จ่ายก็คือสังคม เพราะมีเลขสถิติออกมาว่าก๊าซที่เราปล่อยอย่างประเทศไทยเราปล่อย 370 ล้านตัน ทั่วโลกปล่อย 50,000 ล้านตัน ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เราประสบ เมื่อมาคำนวณต้นทุนความเสียหายต่อหน่วยหนึ่งตันที่ปล่อย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 100-200 ดอลลาร์สหรัฐ แปลว่าทุกการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประชาชนหรือสังคมเป็นคนจ่ายเงิน แต่คนที่ปล่อยก๊าซยังไม่ได้จ่าย ภาษีคาร์บอนจึงเป็นการดึงกลับมาว่าให้คนที่เป็นคนปล่อยเริ่มเป็นคนจ่าย
จากแนวคิดนี้ทำให้เกิดคำจำกัดความทั้งภาษีคาร์บอนและคาร์บอนเครดิต สิ่งเหล่านี้สร้างความรับผิดชอบให้ผู้ที่ปล่อยด้วยกลไกราคาคาร์บอน จริงๆ มีเครื่องมือ 2 เครื่องมือหลักที่ใช้ในการควบคุม อย่างแรกคือใครปล่อยคนนั้นจ่าย ภาษีคาร์บอนคือหนึ่งในเครื่องมือนี้ จะแบ่งเป็น 2 วิธี คือเก็บภาษีคาร์บอนบนสินค้าและเก็บภาษีบนนิติบุคคล วิธีที่นิยมมากที่สุดและไทยกำลังจะทำคือการเก็บคาร์บอนบนสินค้า วิธีที่สองมีแค่บางประเทศ เช่น สิงคโปร์ โคลัมเบีย เป็นต้น ที่ใช้วิธีนี้
อีกระบบหนึ่งที่ต่างประเทศใช้ในการออกมาตรการลดคาร์บอนก็คือ Cap-and-Trade การซื้อขายสิทธิ์ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นการลดก๊าซเรือนกระจกแล้วได้คาร์บอนเครดิต ซึ่งแต่ละอุตสาหกรรมจะมีเส้นที่เรียกว่าเบสไลน์ไว้เทียบกับธุรกิจอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ถ้าเราปล่อยน้อยเมื่อเทียบกับเบสไลน์ธุรกิจที่อยู่ในกลุ่ม เราก็มีแนวโน้มจะได้เครดิต หลายคนจะคิดว่าลดแล้วเราจะได้เครดิตเลย มันไม่ใช่อย่างนั้น ต้องมาเทียบกับอุตสาหกรรมเดียวกันก่อน นอกจากนี้ยังมีการเทียบเป็นโครงการ ถ้าเราปรับปรุงพลังงานในโรงงานแล้วเทียบก่อนหลัง พลังงานลดลงเท่าไรและคำนวณออกมา ก็นับว่าเป็นการลดก๊าซเรือนกระจก
ทุกบริษัท SME อาจจะไม่จำเป็นต้องคำนวณว่าเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไร แต่สิ่งที่ต้องรู้คือตอนนี้มีรายได้และรายจ่ายด้านพลังงานคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด เพราะการใช้พลังงานกับก๊าซเรือนกระจกมักไปด้วยกัน ทั้งนี้แต่ละธุรกิจจะมีต้นทุนพลังงานไม่เหมือนกัน ถ้าเราทำโรงงานน้ำแข็งอาจมีค่าใช้จ่ายพลังงานเป็น 70% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ในขณะที่ธุรกิจบริการอาจมีค่าใช้จ่ายพลังงานเพียง 5% กลุ่มที่มีการใช้พลังงานต่อค่าใช้จ่ายเยอะก็จะมีความเสี่ยงสูงกว่า ก็ต้องปรับตัวให้เร็วขึ้น
ดังนั้นกลุ่มที่ต้องเริ่มก่อนคือ กลุ่ม SME ที่มีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเกิน 30% ขึ้นไปของต้นทุน แปลว่าพลังงานมีผลต่อกำไรของธุรกิจ ค่าใช้จ่ายพลังงานหลักๆ ในที่นี้จะคำนวณจาก การใช้น้ำมัน เชื้อเพลิง โลจิสติกส์ แก๊สธรรมชาติและค่าไฟฟ้า ตัวอย่างการคำนวณง่ายๆ อย่างน้ำมันดีเซล 1 ลิตร จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 2.7 กิโลกรัม ถ้ารัฐบาลประกาศว่าจะมีภาษีคาร์บอน 200 บาทต่อตันคาร์บอน แปลว่า น้ำมันที่เติม 1 ลิตร ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2.7 เราก็เอา 2.7 x 200 บาท ดังนั้นก็ได้คร่าวๆ ว่า ทุกๆ 1 ลิตรของการเติมน้ำมัน จะมีค่าภาษีคาร์บอนเกือบ 50 สตางค์ เราสามารถคำนวณเองได้หากเรารู้ปริมาณที่เราใช้ในแต่ละเดือน
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้โครงสร้างน้ำมันในไทยเบื้องต้น เรามีการเก็บภาษีสรรพสามิตซึ่งรวมค่าใช้จ่ายผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปแล้ว ดังนั้นในเฟสแรกที่ประเทศไทยกำลังจะทำแม้มีการประกาศจะใช้ภาษีคาร์บอน แต่โครงสร้างราคาหน้าปั๊มน้ำมันเราก็ยังจ่ายเหมือนเดิม แต่ภาครัฐอาจมีการให้ความรู้เพิ่มเติมว่าภาษีที่เราจ่ายนั้นมีการจ่ายค่าก๊าซเรือนกระจกร่วมด้วย เมื่อถามว่าทำไมคนทั่วไปต้องรู้ว่าเงินที่จ่ายตรงนี้รวมค่าก๊าซเรือนกระจก ก็เพราะน้ำมันมีหลายตัวเลือก 95, 91, E10, E20 ยิ่ง E ตัวเลขเยอะ แปลว่ามีก๊าซเอทานอลผสมอยู่มาก โดยทั่วไปน้ำมันที่มีส่วนผสมของเอทานอลก็จะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าเบนซิน
ผลกระทบภาษีคาร์บอนในเฟสแรกเป็นภาพของการมองระยะสั้น แต่ SME อาจจะต้องมองผลกระทบในระยะกลางและระยะยาว ที่สำคัญที่สุดคือ ดูว่าสินค้าที่เราขายในปัจจุบันยังสามารถขายได้ในโลกอนาคตหรือไม่ ส่วนใหญ่ SME ไทยจะเป็นการขายสินค้าไปให้ธุรกิจด้วยกัน ไม่ได้ขายโดยตรงผู้บริโภค ดังนั้นก็ต้องไปดูว่าลูกค้าของเราอยู่ในตลาดที่น่าจะเป็นกรีนหรือไม่ เราอาจต้องปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์หรือบริการให้เข้ากับความต้องการของลูกค้าที่จะเปลี่ยนไป
ข้อที่ 2 ต้องดูแนวโน้มของโลก อนาคตพลังงานจะสะอาดขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นระยะกลางและยาว จะสามารถแข่งขันได้ต้องหาพลังงานสะอาดมาช่วยให้ต้นทุนถูกลง ซึ่งจริงๆ การลดการใช้พลังงานหรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็สามารถทำให้กำไรเราเพิ่มขึ้นด้วย แต่ SME ส่วนมากยังเข้าใจว่าลงทุนกรีนต้องจ่ายเงินอย่างเดียว รวมถึงทุกวันนี้เรามีเทคโนโลยีมาช่วยและต้นทุนเทคโนโลยีลดลงเร็วมาก ทำให้ถึงจุดคุ้มทุนเร็วขึ้น โดยภาพรวมสุดท้ายลูกค้าอาจมองว่าสินค้าเราถูกลงและเราอาจมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย เพราะสินค้าเรามันสะอาดขึ้น แต่ทั้งหมดทั้งปวงต้องเริ่มจากรู้ตัวเราก่อนแล้วค่อยๆ เริ่มทำไปเรื่อยๆ
SME ที่มีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเกิน 30% อาจเป็นกลุ่มที่ต้องเริ่มก่อน แต่ SME ที่มีค่าใช้จ่ายพลังงานไม่ถึง 30% เอง ก็ต้องทำเรื่องของการจัดเก็บข้อมูล บางที SME จะเน้นไปที่รายเป็นหลักไม่ได้ดูค่าใช้จ่าย แต่จริงๆ เขาต้องดูว่าค่าใช้จ่าย มีอะไรที่ลดได้อีกหรือไม่ และควรไปลดต้นทุนส่วนอื่นๆ ก่อน แล้วค่อยมาจัดการเรื่องการลดการใช้พลังงาน
เฟสแรกน่าจะเริ่มต้นปีหน้า (2025) วัตถุประสงค์ของเฟสนี้คือสร้าง Awareness ดังนั้นอาจจะทั้งประกาศใช้และบังคับใช้ใน พ.ร.บ.สรรพสามิต น่าจะเริ่มในกลุ่มน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ในระยะสั้นอาจไม่ได้กระทบมากนัก แต่ในระยะยาวนั้นไทยมีการตั้งเป้าว่าปี 2030 จะลดก๊าซเรือนกระจก 30% เทียบกับกรณีปกติ เกิดคำถามว่าถ้าราคาคาร์บอนไม่เพิ่มและไม่มีกลไกอื่นมาเราจะลดก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหรือไม่ ในหลายสิบประเทศที่ทำภาษีคาร์บอน เฟสหนึ่งก็เริ่มจากสร้างการรับรู้ 2-3 ปี และเฟสต่อมา 2-3 ปี จะเริ่มปรับราคา ประเทศไทยยังไม่มีความชัดเจนว่าแต่ละเฟสจะเกิดขึ้นปีไหน แต่หากเราจะบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2030 ก็ต้องเริ่มกระบวนการทั้งหมดภายใน 5 ปีนี้
SME ที่ประสบความสำเร็จจะเริ่มจากรู้จักธุรกิจตนเองก่อน มีคำที่เรียกกันว่า Energy Audit คือเช็กว่าเรามีการใช้พลังงานในธุรกิจของเราทั้งหมดเท่าไร จากการนับอุปกรณ์ใช้พลังงานทุกชิ้น ตรวจว่าแต่ละชิ้นใช้พลังงานเท่าไร และจำนวนชั่วโมงที่เราใช้ คำนวณออกมาก็เป็นหน่วยพลังงานและค่าไฟฟ้า จะทำให้เราเห็นว่าเราจ่ายเงินไปกับอุปกรณ์ไหนมาก สามารถลดการใช้งานได้หรือไม่ หลังจากรู้ตัวเองแล้ว ก็จะมาลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพจากอุปกรณ์ที่ลงทุนแล้วได้ต้นทุนคืน เช่นพวกหลอดไฟ ถ้าเปลี่ยนเป็น LED จะคุ้ม เครื่องปรับอากาศถ้าเป็นอินเวอร์เตอร์จะช่วยประหยัดพลังงาน โดยทั่วไปถ้าเราไม่เคยทำเรื่องพวกนี้เลยจะสามารถลดได้ 5-10 % ในปีถัดไป
ในทางทฤษฎีจะมีการลดพลังงาน 3 วิธี 1) Avoid หลีกเลี่ยงการใช้พลังงานไม่จำเป็น เช่นการปิดไฟ ซึ่งปัจจุบันก็มีเทคโนโลยีมาช่วย ถ้าเราไม่เคยทำตรงนี้จะลดได้ 5-10% 2) Efficiency เปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องจักรเก่าที่ใช้มา 5 ปี เทคโนโลยีใหม่ๆ จะช่วยประหยัดพลังงานมากกว่า ก็ลดได้อีก 5-10% 3) เปลี่ยนไปใช้กระบวนการอื่นเลย อันนี้อาจจะยากที่สุดเพราะเป็นการเปลี่ยนทั้งกระบวนการ แต่ถ้าเราอยากไปสู่ Net Zero ก็ต้องปรับโครงสร้างทั้งหมด ตรงนี้อาจจะใช้ต้นทุนมาก แต่ข้อ 1-2 สามารถทำได้เลยทันที
คาร์บอนเครดิตเกิดจากกลไกจูงใจให้การลดก๊าซเรือนกระจก และได้สิ่งตอบแทนในรูปแบบของเครดิต ทางยุโรปพอเขามีเป้าหมายต้องการลดก๊าซเรือนกระจก เลยซื้อคาร์บอนเครดิตไปใช้ในการบรรลุเป้าของเขา ส่วนในประเทศไทย ตอนนี้เป้าที่เน้นคือการลดก๊าซเรือนกระจก เราต้องลดก๊าซซกระจกให้ถึงเบสไลน์ก่อน คาร์บอนเครดิตถึงจะตามมา ไม่ใช่ว่าทุกครั้งเราจะได้คาร์บอนเครดิต คาร์บอนเครดิตส่วนใหญ่ปัจจุบันจะเกิดในกลุ่มธุรกิจ Nature Base เช่น การเกษตร ปศุสัตว์ หรือป่าไม้ ไม่ใช่ภาคธุรกิจแนว SME ที่มักเป็นโรงงานอุตสาหกรรม และบริการ ดังนั้น SME ลดคาร์บอนของตนเองเพื่อให้เสียภาษีคาร์บอนน้อยที่สุดดีกว่า
อย่างไรก็ตามถ้ามองในมุม Incentive อื่นๆ ประเทศไทยตอนนี้เรามีกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจากกระทรวงพลังงาน แต่ละปีจะเปิดเป็นเฟสออกมา ถ้ามีโรงงาน SME ต้องการจะปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตจะมีโปรแกรมช่วยเหลือ ดังนั้นถ้าเราเข้าข่ายการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตโรงงาน เราก็สามารถขอเข้าโครงการได้ ที่ผ่านมาโรงงานขนาดใหญ่จะมีสูตรคือ 80:20 โรงงานออก 80% รัฐออก 20% ถ้าเป็น SME จะเป็น 70:30 ธุรกิจออกเอง 70% รัฐออก 30% นอกจากนี้ก็มีแพ็คเกจเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากหลายๆ ธนาคาร ดังนั้นคาร์บอนเครดิตมันก็คืออีกหนึ่งเครื่องมือที่มาเสริม แต่ปัจจุบันสำหรับ SME ยังเป็นไปได้ยากที่จะได้เครดิตนี้
การสนใจเรื่องลดคาร์บอนหรือสนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ คือการทำให้ธุรกิจเรายั่งยืน ซึ่งความยั่งยืนก็ไม่ได้มีเพียงเรื่องสิ่งแวดล้อม การทำให้ธุรกิจยั่งยืนต้องเน้นก่อนว่าเรื่องนี้มาช่วยให้เราใช้ต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สินค้าของเรามีคุณค่าและแตกต่าง ความกรีนหรือความรักษ์โลกก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สินค้าเราแตกต่างได้ ดังนั้นการลงทุนเรื่องความยั่งยืนในวันนี้เป็นจุดเริ่มที่จะทำให้สินค้าเราทั้งแตกต่างและลดต้นทุน เป็นการทำให้รายได้เราเพิ่มและรายจ่ายเราลด อีกทั้งเป็นการเตรียมพร้อมกับภาษีคาร์บอนที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ SME ควรเริ่มตอนนี้เพื่อให้ธุรกิจเราเติบโตอย่างยั่งยืน
ที่มา : https://thestandard.co/podcast/the-sme-handbook-ep44/