ทะเลไทย เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกอยากมาเยือนในช่วงปีใหม่มากที่สุด ด้วยวิวทิวทัศน์ที่สวยงามไปจนถึงธรรมชาติที่หลากหลายและอุดมสมบูรณ์
แต่เชื่อไหมว่า ไทยติดอันดับ TOP 10 ที่ “ปล่อยขยะลงทะเล” มากที่สุดในโลก จากรายงานของ Jemback et al ระบุว่าประเทศไทยสร้างปริมาณขยะทางทะเลและขยะมูลฝอยสูงเป็นอันดับ 6 ของประเทศที่มีปริมาณขยะเยอะที่สุดในโลก มีขยะมากถึง 27.40 ล้านตันต่อปี และในจำนวนนี้เป็นขยะพลาสติกมากถึง 2 ล้านตัน
โดยผลสำรวจของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม รายงานว่า “ขยะที่พบในทะเลไทยมากที่สุด” ได้แก่ ขวดพลาสติกเครื่องดื่ม 22% หลอดพลาสติก 20% ถุงพลาสติก 19.42% ขวดเเก้ว 10.96% ถุงขนม 7.97% เศษโฟม 7.55% กระป๋องเครื่องดื่ม 7.46% กล่องอาหารประเภทโฟม 6.92% หลอด 6.45% ฝาพลาสติก 5.67% และ เชือก 5.61%
ขยะทะเลมาจากไหน?
แหล่งที่มาของขยะทะเลสามารถพบจากกิจกรรมบนบกและชายฝั่ง (ชุมชน แหล่งทิ้งขยะบนฝั่ง บริเวณท่าเรือ การท่องเที่ยวชายหาด) คิดเป็น 80% และจากกิจกรรมในทะเล (การขนส่งทางทะเล การประมง การท่องเที่ยวทางทะเล) คิดเป็น 20% ซึ่งขยะเหล่านี้อาจถูกลม กระแสน้ำ คลื่นทะเล หรือฝน นำพาหรือพัดพาขยะให้แพร่กระจายออกไปในทะเลหรือแม้แต่พัดพาจากทะเลขึ้นสู่ชายฝั่ง หรืออาจเกิดจากการตั้งใจทิ้งขยะลงไปในทะเลโดยมนุษย์
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าในช่วงปี 2555-2562 ปริมาณขยะมูลฝอยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแต่มีแนวโน้มลดลงในปี 2563-2564 เหลือประมาณ 24-25 ล้านตันต่อปี จากสภาพปกติราว 27-28 ล้านตันต่อปี อาจเป็นเพราะสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศลดลง กระนั้นในช่วงเวลาดังกล่าวกลับพบปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นกว่า 50% ในเขตกรุงเทพฯ และมากกว่า 20% ในเมืองอื่น ๆ
โดยในเดือน ก.พ.2566 จากข้อมูลนี้แสดงให้เห็นได้ว่า ขยะที่พบในทะเลส่วนใหญ่ล้วนมาจากการอุปโภคบริโภคในแต่ละวันของคนเรา ซึ่งขยะเหล่านี้ไม่เพียงทำลายทัศนียภาพอันงดงามและส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวเท่านั้น หากยังส่งผลกระทบในด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ทะเลน้อยใหญ่ที่เผลอกินขยะพลาสติกเข้าไปแล้วเสียชีวิตหรือถูกเศษเชือกอวนรัดจนบาดเจ็บ และเมื่อสัตว์ทะเลลดจำนวนลงย่อมส่งผลกระทบต่อการประมง นอกจากนี้ ขยะทะเลที่กลายเป็นไมโครพลาสติกจะปนเปื้อนไปในห่วงโซ่อาหารสู่การบริโภคของมนุษย์ อีกทั้งมลพิษจากขยะทะเลที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่ง
มาตรการจัดการขยะพลาสติกภาครัฐ
ปัจจุบันภาครัฐตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้จึงได้มีการกำหนดมาตรการทั้งทางกฎหมายเพื่อควบคุมปริมาณการผลิตและการใช้พลาสติก และจัดทำ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก (ปี 2561-2573) โดยขอความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ เอกชน และประชาชนให้เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (single-use plastics) 7 ชนิด ตั้งแต่วันที่ 26 ธ.ค.2561 ได้แก่ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม ไมโครบีดส์ ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีส่วนผสมของสารประเภทอ็อกโซ่ (ภายในปี 2562) ถุงพลาสติกหูหิ้วความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องโฟมบรรจุอาหาร (ภายในปี 2565) แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และหลอดพลาสติก (ภายในปี 2568) และยังตั้งเป้าให้ขยะพลาสติกทั้ง 7 ชนิดสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้ 100% ภายในปี 2570
ไม่เพียงแต่ภาครัฐเท่านั้น ภาคส่วนอื่นๆ ก็ให้ความสนใจในการช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติกนี้เช่นกัน ดังจะเห็นได้จากการคิดค้นบรรจุภัณฑ์ให้เป็นวัสดุนำกลับมาใช้ใหม่ 100% หรือบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ อย่างข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ชานอ้อย แกลบ เป็นต้น รวมไปถึงการออกแคมเปญรณรงค์ “งดใช้ถุงพลาสติก” และ "การจัดเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ต้องการรับถุงพลาสติก” ที่มีมาตรการให้ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ
สำหรับการประเมินแผนงานในระยะที่ 1 (ปี 2563-2565) การเลิกใช้พลาสติกมีเป้าหมายด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถดำเนินการได้ 42% (จากเป้าหมาย 75%) และสามารถนำพลาสติกกลับไปใช้ประโยชน์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ได้ 25% (จากเป้าหมาย 40%)
โดยผลิตภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ประโยชน์มากที่สุด ได้แก่ ขวดพลาสติก (ทุกชนิด) จึงทำให้ปริมาณขยะพลาสติกยังคงเพิ่มขึ้นทุกปี และสามารถนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ได้เป็นบางส่วนเท่านั้น สรุป การลดขยะพลาสติกที่ทำได้เพียงครึ่งเดียวจากเป้าหมายที่ว่างไว้ สาเหตุที่สำคัญก็คือ เรายังไม่มีกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับเพื่อใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างจริงจัง ที่ผ่านมาเป็นเพียงขอความร่วมมือเป็นลักษณะภาคสมัครใจ
ประชาชนอย่างเรา ทำอะไรได้บ้าง
ถ้าเราอยากให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น เราในฐานะผู้บริโภคมีผลอย่างมากต่อภาคธุรกิจ ถ้าเราเปลี่ยน ธุรกิจก็เปลี่ยนตาม แต่ถ้าเราไม่ยอมเปลี่ยน เน้นแต่ความสบายที่ยังเคยชินอยู่ ภาคอื่นๆ ก็เปลี่ยนยาก ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ไม่ว่าจะภาครัฐ เอกชน และประชาชนที่เป็นภาคที่ใหญ่ที่สุดในสังคม ทุกฝ่ายต้องเปลี่ยน แล้วคุณล่ะ คิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้
หากเราไม่อยากเห็นท้องทะเลไทยมีภาพลักษณ์ที่ไม่สวยงามจากขยะจำนวนมหาศาล ขอชวนทุกคนไปเที่ยวทะเลแบบไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วยการไม่ทิ้งขยะลงทะเล ช่วยกันเก็บขยะที่ตกค้างบริเวณชายหาด แนวปะการัง และป่าชายเลน ลดการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง แล้วหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถใช้ซ้ำหรือทำจากวัสดุที่ย่อยสลายได้ รวมทั้งแยกขยะและทิ้งให้ถูกต้องเพื่อให้ขยะทั้งหลายถูกส่งต่อไปจัดการอย่างถูกวิธีหรือเข้าสู่กระบวนการ Recycle ได้มากขึ้น
ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/blogs/business/business/1170755