‘ศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจร’ หรือ ‘MRF’ ที่อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นโมเดลต้นแบบแห่งแรกของประเทศที่ดำเนินการโดยชุมชน ได้สร้างผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมหลังจากเปิดดำเนินการมาเป็นเวลา 1 ปี โดยสามารถช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ และเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งยังส่งเสริมให้เกิดจิตสำนึกในการคัดแยกขยะ และลดปริมาณขยะที่ถูกส่งไปกำจัดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ศูนย์ MRF แห่งนี้ได้รับการสนับสนุนจาก ‘หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ’ (บพข.) และ ‘กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย’ (Dow) เพื่อแก้ไขปัญหาขยะ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่อำเภอบ้านฉางที่เป็นทั้งเมืองอุตสาหกรรมและมีพื้นที่เกษตรกรรม การจัดตั้งศูนย์ MRF นี้จึงเป็นการตอบสนองต่อความต้องการในการจัดการขยะอย่างยั่งยืน และส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับชุมชน
ศูนย์ดังกล่าว เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกันยายน ในปี 2566 ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนอย่างหลากหลาย โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมกับ กองทุน Dow Business Impact Fund โดย กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ได้ร่วมกันสนับสนุนงบประมาณและทรัพยากรในการจัดตั้งศูนย์ฯ รวม 20 ล้านบาท พร้อมได้รับการสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยีจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และความร่วมมือจากสถาบันพลาสติก หน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง และสมาชิกในชุมชน
MRF เป้าหมายหลักในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกและวัสดุรีไซเคิล โดยมุ่งเน้นการนำวัสดุเหล่านี้กลับเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ เพื่อลดปริมาณขยะที่ถูกฝังกลบและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการตั้งเป้าจัดการขยะได้ปีละกว่า 1,000 ตัน ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เทียบเท่า 2,400 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี นอกจากนี้ ยังมีบทบาทสำคัญในการสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยการจ้างงานคนในพื้นที่และส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชน ซึ่งนับตั้งแต่เริ่มดำเนินงานจนถึงเดือนตุลาคม 2567 ศูนย์ฯ ได้จ้างงานคนในชุมชนแล้ว 6 อัตรา มีสมาชิกศูนย์แล้วกว่า 500 คน และสร้างรายได้ให้กับชุมชนที่เป็นสมาชิกแล้วกว่า 100,000 บาท รวมถึงมีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อเผยแพร่ความรู้และเทคโนโลยีในการจัดการขยะให้กับชุมชนอื่น ๆ ทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการจัดการขยะอย่างยั่งยืนในระดับท้องถิ่น
นอกจากนี้ ยังนำเสนอโซลูชันในการจัดการขยะอย่างยั่งยืน โดยใช้เทคโนโลยีทันสมัยในการคัดแยกวัสดุรีไซเคิลประเภทต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ขั้นตอนการคัดแยกด้วยเซ็นเซอร์ ไปจนถึงการทำความสะอาดบรรจุภัณฑ์เพื่อส่งต่อให้โรงงานรีไซเคิล กระบวนการเหล่านี้ไม่เพียงช่วยลดปริมาณขยะที่ถูกฝังกลบและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่านั้น แต่ยังสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับชุมชนและประเทศชาติอีกด้วย
ดังที่ ‘ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์’ ประธานอนุกรรมการ แผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน บพข. กล่าวว่า บพข. ร่วมสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ MRF โดยใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในการดำเนินการ เพื่อนำทรัพยากรกลับมาหมุนเวียนใช้ให้ได้มากและนานที่สุด ซึ่งนอกจากจะช่วยลดขยะและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ของโลกแล้ว ยังเป็นการสร้างรายได้และโอกาสทางธุรกิจของชุมชน ผ่านความร่วมมือในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) แบบครบวงจรอีกด้วย
ด้าน ‘กิติพงศ์ อุระวัตร’ นายอำเภอบ้านฉาง กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนในชุมชนตระหนักถึงคุณค่าของขยะมากขึ้น โดยเห็นว่าขยะสามารถนำไปสร้างมูลค่าได้ จึงมีการคัดแยกขยะอย่างถูกต้องตั้งแต่ต้นทาง ส่งผลให้ปริมาณขยะในพื้นที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด วัสดุเหลือใช้ต่าง ๆ ถูกนำไปรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ยังมีแผนที่จะสร้างรายได้เพิ่มเติมจากการเปิดให้คณะบุคคลภายนอกเข้าเยี่ยมชม โดยคิดค่าบริการวิทยากรและค่าอาหาร ซึ่งรูปแบบการดำเนินงานของศูนย์ฯ แห่งนี้ถือเป็นต้นแบบที่น่าสนใจและสามารถนำไปขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆ ได้ในอนาคต
โดยสรุปแล้ว โครงการสนับสนุนจากกองทุน บพข. ได้เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการแก้ไขปัญหาขยะในชุมชนบ้านฉางอย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลให้เกิดประโยชน์ในหลายมิติ อาทิ ด้านสิ่งแวดล้อม โดยส่งเสริมให้ประชาชนในชุมชนมีส่วนร่วมในการคัดแยกขยะจากครัวเรือน ช่วยลดปริมาณขยะที่ถูกฝังกลบ และกระตุ้นให้เกิดการรวมกลุ่มของประชาชนที่มีจิตสำนึกในการดูแลสิ่งแวดล้อม ทั้งยังส่งผลดีต่อด้านเศรษฐกิจ โดยสร้างโอกาสในการจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับสมาชิกในชุมชนจากการจัดการขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ นับเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนบ้านฉางให้ยั่งยืนยิ่งขึ้นอีกด้วย