รู้จักสนธิสัญญาพลาสติกโลก ไฟฉายส่องทางสู่ลดมลพิษพลาสติกเป็นศูนย์ โดย ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหาร ด้านความยั่งยืนองค์กร และการพัฒนากลยุทธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์
220 ล้านตัน เป็นปริมาณ ขยะพลาสติก ที่ถูกสร้างใน ปี 2567 ตามรายงานของ EA Earth Action ปริมาณขยะพลาสติกขนาดนี้เทียบเท่ากับรถยนต์ประมาณ 146 ล้านคัน และช้างแอฟริกา 36.7 ล้านตัว
รายงานของ EA Earth Action จัดลำดับประเทศ ที่สร้าง “ขยะพลาสติกต่อหัว” มากที่สุดในโลก โดยอันดับหนึ่งคือ เบลเยี่ยม 147 กิโลกรัมต่อหัว สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 123 กิโลกรัมต่อหัว และโอมาน 122 กิโลกรัมต่อหัว ส่วนไทยรั้งอันดับที่ 32 ราว 45 กิโลกรัมต่อหัว ยิ่งไปกว่านั้น ขยะพลาสติกเหล่านี้บางส่วนถูกกำจัดไม่ถูกวิธี ส่งผลให้มีพลาสติกปนปื้อน กระทบต่อระบบนิเวศโดยรวม โดยในปี 2593 อาจมีขยะพลาสติกในทะเลมากกว่าปลาถึง 3 เท่า โดยไทยอยู่ในอันดับที่ 5 ของกลุ่มประเทศที่มีขยะพลาสติกไหลลงสู่ทะเลมากที่สุดในปี 2565
รายงานของ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า การผลิตพลาสติกของโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 348 ล้านตันในปี 2560 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในปี 2583
ขยะพลาสติก เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่น่ากังวลอย่างยิ่ง เนื่องจากพลาสติกไม่สามารถย่อยสลายได้ง่าย และสามารถสะสมในธรรมชาติเป็นเวลานาน โดยเฉพาะ ไมโครพลาสติก หรือชิ้นส่วนพลาสติกขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ซึ่งเกิดจากการสลายตัวของพลาสติกใหญ่ หรือจากการใช้งานประจำวัน บางครั้งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า สามารถปนเปื้อนในน้ำและอาหาร ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในภาพรวม
ความกังวลนี้เป็นผลให้ทั่วโลกพยายามหาแนวทางแก้ไขและป้องกันอย่างเร่งด่วน หนึ่งในความพยายามอันเป็นรูปธรรมที่สุดในเวลานี้ น่าจะหนีไม่พ้น สนธิสัญญาพลาสติกโลก (Global Plastic Treaty) ข้อตกลงที่จะนำไปสู่มาตรการทางกฎหมายระดับโลก เป็นข้อตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนที่สำคัญ ดังที่ อิงเจอร์ แอนเดอร์เซน ผู้อำนวยการโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ระบุว่า สนธิสัญญาพลาสติกโลก อาจเป็นข้อตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่สุดตั้งแต่ความตกลงปารีส โดยคาดว่าจะมีข้อสรุป และการลงนามในปี 2568
“สนธิสัญญาพลาสติกโลก” มีเป้าหมายเพื่อลดมลพิษพลาสติกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2583 ผ่านแผนงานที่เรียกว่า System Change Scenario (SC Scenario) โดยกำหนดเป้าหมายในการ ลดการปล่อยขยะพลาสติก สู่สิ่งแวดล้อมลง 80% ภายในปี2583 เน้นให้ทุกภาคส่วนใช้ซ้ำ ลด ละ เลิกการใช้พลาสติกที่ก่อให้เกิดปัญหา และไม่มีความจำเป็น 4 ประการ 1) การใช้ซ้ำ (Reuse) 2) การรีไซเคิล (Recycle) 3) การปรับเปลี่ยนทิศทาง และกระจายความเสี่ยง และ 4) การจัดการกับขยะพลาสติกที่ไม่สามารถใช้ซ้ำ (Reuse) และรีไซเคิล (Recycle) โดยอาจมีตัวอย่างดังเช่น การลดใช้พลาสติกที่มีอายุการใช้งานสั้น (Short-lived plastics) ซึ่งมีอายุการใช้งานประมาณ 0.5 ถึง 3 ปี โดยหันมาใช้พลาสติกประเภททนทาน (Durable plastics) ซึ่งมีคุณสมบัติความต้านทานที่ดี และอายุการใช้งานยาวนานขึ้น นอกจากนี้ยังต้องหาวิธีการจัดการ ขยะพลาสติก ที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) และรีไซเคิล (Recycle)
ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/corporate-moves/environment/1170843