ครม.ไฟเขียว แจก 10,000 บาท เฟส 2-ลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt 5 หมื่น (ที่มา ประชาชาติธุรกิจ)

25 ธันวาคม 2567

ครม.ไฟเขียวแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 2 ให้ผู้สุงอายุ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ผ่านพร้อมเพย์ พร้อมอนุมัติมาตรการ Easy E-Receipt ลดหย่อนภาษี 2568 สูงสุด 5 หมื่นบาท มีผลตั้งแต่ 15 ม.ค.-28 ก.พ. 2568

ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุมเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้สูงอายุ เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของผู้สูงอายุให้มีโอกาสเข้าถึงการใช้จ่ายที่จำเป็น โดยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

โดยมีเป้าหมายคือผู้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่นทางรัฐอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งจะจ่ายเงินแก่กลุ่มเป้าหมาย 1 หมื่นบาทต่อคน โดยให้เร่งจ่ายเงินครั้งแรกภายในเดือนมกราคมนี้ ผ่านบัญชีพร้อมเพย์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเงื่อนไขในการได้รับเงิน 10,000 บาทนั้น กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป แต่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเฟสแรกจำนวน 4 ล้านคน แจกเป็นเงินสดจำนวน 10,000 บาท จะต้องผ่านการตรวจสอบสิทธิ และผ่านกระบวนการ KYC ผ่านแอปทางรัฐแล้ว

นอกจากนี้ ครม.ยังอนุมัติมาตรการของขวัญปีใหม่ Easy E-Receipt 2.0 ลดหย่อนภาษี 2568 สูงสุด 50,000 บาท

โดยนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอมาตรการของขวัญปีใหม่ 2568 เพื่อช่วยในการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน คือโครงการ Easy E-Receipt 2.0 เพื่อให้ประชาชนใช้จ่ายตามเงื่อนไขโครงการ และสามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 50,000 บาท โดยคาดว่าระยะเวลาโครงการเริ่มตั้งแต่ 15 ม.ค.-28 ก.พ. 2568

สำหรับการใช้จ่ายผ่านโครงการ Easy E-Receipt ต้องซื้อสินค้าและบริการจากร้านค้าที่จดทะเบียนในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม และนำใบกำกับภาษีในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ในวงเงิน 50,000 บาท โดยแบ่งการใช้จ่ายเป็น 2 ส่วน ได้แก่

1.วงเงิน 30,000 บาท ใช้จ่ายสำหรับซื้อสินค้าและบริการที่กำหนด และขยายสิทธิให้ซื้อแพ็กเกจทัวร์ โรงแรม ที่พัก รถเช่าได้ด้วย เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว

2.วงเงิน 20,000 บาท ใช้จ่ายสำหรับร้านวิสาหกิจชุมชน SMEs และร้านค้า OTOP ที่อยู่ในระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์

สินค้าที่ไม่เข้าร่วมมาตรการ Easy E-Receipt

1.ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์

2.ค่าซื้อยาสูบ

3.ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ

4.ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ

5.ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต และค่าบริการสำหรับบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการระยะยาว ซึ่งเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2568 หรือสิ้นสุดหลังวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568 แม้ว่าจะจ่ายค่าบริการระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568 ก็ตาม

6.ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย โดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่น ๆ เป็นไปตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

7.ค่าบริการจัดนำเที่ยว

8.ค่าบริการที่ได้จ่ายเป็นค่าที่พักในโรงแรม

9.ค่าบริการที่ได้จ่ายเป็นค่าที่พักโฮมสเตย์ไทย และ ค่าบริการที่ได้จ่ายเป็นค่าที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 70,000 ล้านบาท และทำให้รัฐสูญเสียการจัดเก็บรายได้ราว 10,000 ล้านบาท และจะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ หรือเข้าสู่ระบบภาษีเพิ่มราว 20% จากปีก่อน

ที่มา : https://www.prachachat.net/politics/news-1721997