ก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่ ปี 2568 แต่โลกก็ยังคงเผชิญกับความเปราะบาง และความไม่แน่นอนรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติสิ่งแวดล้อม หรือความผันผวนทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน ปี 2567 เป็นปีที่ หลายองค์กรต้องเผชิญกับการลดต้นทุน การเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก และการปิดตัวของธุรกิจตั้งแต่ช่วงต้นปี ท่ามกลางความท้าทายเหล่านี้
ประเด็นเรื่อง “การเติบโตควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืน” ได้กลายเป็นวาระสำคัญที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับโลกธุรกิจ เพราะในภาวะที่ไม่แน่นอน หลายภาคส่วนต่างพยายามแสวงหาแนวทางและมุมมองใหม่ ๆ เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น ทั้งสำหรับผู้คน เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
โดย “ปิยะชาติ อิศรภักดี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แบรนดิ แอนด์ คอมพานีส์ ได้รวบรวม 5 ประเด็น ที่จะสามารถพิชิตการเติบโตควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืนในปี 68 จากความคิดและมุมมองจากกลุ่มผู้นำจากองค์กรภาครัฐและเอกชนระดับโลก
1. ประเด็นด้านการสนับสนุนทางการเงิน
ทั่วโลกจะให้ความสำคัญและแสดงความจริงจังในการสนับสนุนทางการเงินเพื่อความยั่งยืนมากขึ้น ทั้งในมิติด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ต่อยอดจากปี 2567 ที่ภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้นในการสนับสนุนการเงินด้านสภาพภูมิอากาศ ยกตัวอย่าง การออกพันธบัตรสีเขียว (Green Bonds) มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 50% ในปีที่ผ่านมา และยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยการสนับสนุนทางการเงินด้านสภาพภูมิอากาศยังคงเป็นความท้าทาย โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ขาดแคลนเงินทุนที่เพียงพอจะก่อให้เกิดผลลัพธ์ในขนาด (Size) และระดับ (Scale) ที่เหมาะสม จึงเป็นที่น่าจับตามองว่าเป้าหมายทางการเงินใหม่ (New Collective Quantified Goal: NCQG) ซึ่งมุ่งสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะสามารถพัฒนากลายเป็นอีกหนึ่งความหวังในการสร้างสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ที่แท้จริงได้หรือไม่
2. ประเด็นด้านโครงสร้างทางเศรษฐกิจ
การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างจะถูกให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น ทั้งในระดับโครงสร้างหลักทางเศรษฐกิจโดยรวมและในภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นภาคการค้า (Trading), อีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) หรือภาคส่วนอื่น ๆ ที่จะมีการปรับเปลี่ยนจากการเติบโตเพื่อเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ไปสู่การเติบโตที่ช่วยแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป แม้ปัจจุบันโลกจะแสดงให้เห็นถึงความกระตือรือร้นในการพัฒนาการเติบโตที่ยั่งยืน แต่ผลลัพธ์ที่จับต้องได้ยังคงไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากยังไม่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอย่างแท้จริงเพื่อให้สิ่งที่เราทำนั้นสร้างความยั่งยืนที่มีผลลัพธ์มหาศาลต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม แนวโน้มดังกล่าวกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเห็นได้จากสถิติ ยอดขายอีคอมเมิร์ซทั่วโลก ที่จะมีมูลค่าทะลุ 6.3 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2567 ซึ่งได้รับแรงหนุนจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวและเครือข่าย
โลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงนี้ ภาคธุรกิจจำเป็นต้องก้าวข้ามการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงมิติเดียว สู่การสร้างสมดุลในการขับเคลื่อนธุรกิจควบคู่กับการแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ผ่านการลงทุนในนวัตกรรมที่ยั่งยืน การปรับโครงสร้างการดำเนินงานให้เหมาะสม และการสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้การเติบโตเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมพร้อมทั้งส่งมอบผลลัพธ์ที่ยั่งยืนในระยะยาว
3. ประเด็นกฎและกติกาของตลาดในระบบเศรษฐกิจ
ความยั่งยืนกำลังกลายเป็นกติกาใหม่ในระบบเศรษฐกิจ โดยการดำเนินธุรกิจ การซื้อขาย และการลงทุนถูกกำหนดโดยปัจจัยด้านความยั่งยืน ซึ่งได้กลายเป็นตัวแปรสำคัญในการควบคุมและเป็นเงื่อนไขหลักสำหรับผู้ประกอบการในตลาด การค้าจะไม่สามารถเปิดเสรีได้เหมือนในอดีต ในปัจจุบัน มากกว่า 60% ของการค้าทั่วโลกมีข้อกำหนดด้านความยั่งยืน ธุรกิจจำเป็นต้องปรับกระบวนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางการค้า
นอกจากนี้ กว่า 90% ของธุรกิจขนาดใหญ่ทั่วโลกได้นำเป้าหมาย ESG มาใช้เพื่อรองรับกฎระเบียบและปรับปรุงการดำเนินงานให้สอดคล้องกับแนวทางความยั่งยืน ความพยายามในการผลักดันข้อตกลงทางการค้าที่ส่งเสริมความยั่งยืนนี้ ส่งผลให้สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 1.5 กิกะตันต่อปี ดังนั้น การเตรียมความพร้อมในการปรับการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของตลาดในอนาคต จึงเป็นสิ่งที่ธุรกิจทุกแห่งต้องให้ความสำคัญและเตรียมความพร้อม
4. ประเด็นด้านอุปสงค์
การบริหารจัดการอุปสงค์จากผู้บริโภคเพื่อสนับสนุนธุรกิจ สินค้า และบริการที่ยั่งยืนจะเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งขึ้น โดยเห็นได้จากความต้องการยานพาหนะไฟฟ้า (EV) ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งผู้บริโภคเริ่มยอมรับและใช้งานจนถึงจุดสมดุล (Equilibrium) ในปัจจุบัน นอกจากนี้ 85% ของผู้บริโภคทั่วโลกยังให้ความสำคัญกับการเลือกสินค้าที่มีฉลากสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน โดยสินค้าประเภทนี้มีสัดส่วนถึง 20% ของสินค้าทั่วโลก ดังนั้น การจัดการอุปสงค์ของผู้บริโภคเพื่อสนับสนุนสินค้าและบริการที่ยั่งยืนจึงเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยผลักดันการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งหันมาให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากยิ่งขึ้นในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าหรือบริการ
5. ประเด็นด้านความพยายามในการสร้างมาตรวัดและติดตามผล
จะมีความพยายามในการสร้างมาตรฐานการวัดผล ติดตาม และรายงานผลกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเติบโตอย่างยั่งยืนอย่างจริงจังยิ่งขึ้น เพื่อสนับสนุนให้เกิดการปฏิบัติที่ชัดเจนและวัดผลได้ ยกตัวอย่างได้จากสถิติของบริษัทขนาดใหญ่ทั่วโลกมากกว่า 73% ได้นำมาตรฐาน GRI (Global Reporting Initiative) มาใช้ในการประเมินความคืบหน้าของการขับเคลื่อนประเด็นความยั่งยืน ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรฐานการวัดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ที่หลายองค์กรทั่วโลกใช้
นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มที่บริษัทต่าง ๆ จะหันมาใช้มาตรวัดเหล่านี้เพิ่มขึ้นในอนาคต เพราะการมีตัวเลขที่ชัดเจนและโปร่งใสในการติดตามผลจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค และดึงดูดนักลงทุนที่ให้ความสำคัญกับธุรกิจที่ก่อให้เกิดความยั่งยืน ดังนั้น บริษัทควรผลักดันการสร้างมาตรวัดและติดตามผลควบคู่ไปกับการลงมือปฏิบัติเพื่อขับเคลื่อนวาระความยั่งยืนให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมและโปร่งใส
ท่ามกลางความเปราะบางและความไม่แน่นอนที่โลกกำลังเผชิญอยู่ ประเด็นเรื่องความยั่งยืนได้กลายเป็นวาระสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสนใจอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนทางการเงิน การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การสร้างกติกาใหม่ในระบบตลาด หรือการบริหารอุปสงค์จากผู้บริโภคให้สนับสนุนสินค้าและบริการที่ยั่งยืน และที่สำคัญ ตอนนี้ไม่ใช่เกมของการมุ่งแต่จะบรรลุเป้าหมาย เพราะความคืบหน้ายังคงอยู่ห่างไกลจากจุดที่เราตั้งไว้
การพูดถึง Target กลายเป็นเรื่องรอง แต่สิ่งสำคัญกลับเป็นการสนับสนุนให้ทุกคนลงมือทำด้วยความพยายามอย่างเต็มที่ (Best Effort) เพื่อหาหนทางที่ดีที่สุดในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการดูแลผู้คน และสิ่งแวดล้อม และเตรียมความพร้อมก้าวสู่การขับเคลื่อนการเติบโตได้อย่างสมดุล และเข้าใกล้เป้าหมายความยั่งยืนและสร้าง Future of Growth ให้แก่เราทุกคน