Textile Recycling เจาะเทรนด์แปลงขยะสู่เสื้อผ้ารักษ์โลก

14 มิถุนายน 2566

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นลำดับที่ 4 รองจากอุตสาหกรรมอาหาร ก่อสร้าง และการขนส่ง [1]เมื่อเทียบจากการใช้วัตถุดิบและน้ำในขั้นตอนการผลิตที่มีปริมาณสูง ทำให้วงการแฟชั่นทั่วโลกหันมาให้ความสนใจกับเทรนด์เสื้อผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยปัจจุบันมีหลายบริษัทเสื้อผ้าชั้นนำร่วมลงนามและสนับสนุนกฎบัตรสหประชาชาติด้านอุตสาหกรรมแฟชั่นว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Fashion Industry Charter for Climate Action) โดยมีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 50% ภายในปี 2573 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593[2] ทำให้ในระยะเวลา 3-5 ปีที่ผ่านมา บริษัทเสื้อผ้าต่างๆ เริ่มปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเสื้อผ้าที่เน้นความยั่งยืนมากขึ้น โดยเฉพาะการผลิตเสื้อผ้าที่ทำมาจากวัสดุรีไซเคิล (Textile Recycling) บทความนี้จึงจะนำทุกท่านไป ทำความรู้จักกับ Textile Recycling ให้มากขึ้น และตอบคำถามว่าเพราะเหตุใด Textile Recycling จะเข้ามาเป็นเทรนด์ใหม่ของวงการแฟชั่นในอนาคต

กระบวนการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากแค่ไหน

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึงราว 1.7 พันล้านตันต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 8-10% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก [3]ซึ่งมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมการบินและการขนส่งทางทะเลรวมกัน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากประเทศที่มีโรงงานผลิตเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มขนาดใหญ่อย่างจีนและอินเดียพึ่งพาถ่านหินและก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก กอปรกับการเติบโตของ Fast Fashion หรือเสื้อผ้าตามกระแสนิยมที่มีราคาถูกด้วยต้นทุนการผลิตที่ต่ำ ทำให้สามารถผลิตในปริมาณที่มากและรวดเร็ว ซึ่งส่งให้มลพิษที่ปลดปล่อยจากการผลิตเสื้อผ้ามากขึ้นตามไปด้วย โดยจากงานวิจัยของ Quantis (2018) พบว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มส่วนใหญ่มาจากกระบวนการย้อมสีและตกแต่งสำเร็จ (36%) เนื่องจากเป็นกระบวนการที่ใช้พลังงานไฟฟ้ามากที่สุด รองลงมา ได้แก่ การเตรียมเส้นด้ายหรือการปั่น (28%) การผลิตเส้นใย (15%) และการเตรียมผ้าหรือการถักทอ (12%) (รูปที่ 1)

นอกจากนี้ การผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมีการใช้น้ำจำนวนมาก ตั้งแต่การใช้น้ำเพื่อการเกษตรไปจนถึงการใช้น้ำในการย้อมสีและตกแต่ง โดยจากรายงานของ UNESCO-IHE ชี้ว่า การผลิตเสื้อยืด 1 ตัวต้องใช้น้ำมากถึง 2,700 ลิตร เทียบเท่าปริมาณน้ำสำหรับบริโภคต่อคนได้เกือบ 3 ปี [4]อีกทั้ง การใช้สารเคมีในการฟอกย้อมสียังก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำกว่า 20% ของปริมาณน้ำเสียทั่วโลก [5]ขณะที่การผลิตสิ่งทอจากเส้นใยธรรมชาติต้องใช้ที่ดินจำนวนมากในการปลูกฝ้ายและเลี้ยงสัตว์ ซึ่งในอนาคต ความต้องการเสื้อผ้าที่สูงขึ้นตามกำลังซื้อของผู้บริโภค จะก่อให้เกิดมลพิษจากการผลิตเสื้อผ้ามากขึ้น และยิ่งจะส่งผลลบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นตามไปด้วย (รูปที่ 2)

ทำความรู้จักกับ Textile Recycling

Textile Recycling คือ เสื้อผ้าที่ผลิตมาจากขยะสิ่งทอ โดยวัสดุที่ใช้สำหรับการรีไซเคิลสิ่งทอสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่

  1. ขยะสิ่งทอก่อนการบริโภค (Pre-consumer) ส่วนใหญ่เป็นเศษด้ายและเศษผ้าที่เหลือใช้จากโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
  2. ขยะสิ่งทอหลังการบริโภค (Post-consumer) คือ สิ่งทอที่ถูกทิ้ง เสื่อมสภาพหรือผ่านการใช้งานแล้ว เช่น เสื้อผ้าเก่า และของใช้ในบ้านต่างๆ

กระบวนการผลิต Textile Recycling จะเริ่มจากการนำวัสดุของแข็งที่ติดมากับเสื้อผ้าออก เช่น กระดุมและซิป แล้วนำขยะสิ่งทอมาตัดหรือฉีกออกเป็นชิ้นเล็กๆ จากนั้นจะทำการคัดแยกเฉดสีเพื่อเข้าสู่กระบวนการแปลงสภาพ โดยการนำเอาตัวทำละลายที่เหมาะสมกับเส้นใยแต่ละชนิดมาทำละลายเพื่อขจัดสิ่งแปลกปลอม แล้วอัดขึ้นรูปเพื่อนำมาปั่นเป็นเส้นใยรีไซเคิลสำหรับผลิตเสื้อผ้าใหม่หรือผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ (รูปที่ 3) อย่างไรก็ดี เสื้อผ้าส่วนใหญ่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรีไซเคิลได้ 100% เนื่องจากส่วนประกอบและเส้นใยของเสื้อผ้ามีความหลากหลาย ซึ่งเส้นใยแต่ละชนิดมีความสามารถในการรีไซเคิลต่างกัน อีกทั้งกระบวนการรีไซเคิลสิ่งทอจะส่งผลให้ความยาวของเส้นใยสั้นลง จึงต้องทำการผสมกับเส้นใยบริสุทธิ์ในสัดส่วนราว 30-50% เพื่อให้เส้นใยมีคุณภาพมากขึ้น

โดยทั่วไป เสื้อผ้าที่ทำมาจากเส้นใยรีไซเคิลยังคงมีราคาแพงกว่าเสื้อผ้าที่ทำมาจากเส้นใยบริสุทธิ์ เนื่องจากต้องใช้แรงงานจำนวนมากในการคัดแยกส่วนประกอบและสีของเสื้อผ้า เพื่อให้ได้วัตถุดิบตั้งต้นที่สม่ำเสมอสำหรับการรีไซเคิล ทำให้การประหยัดต้นทุนต่อหน่วย (Economies of Scale) ทำได้ค่อนข้างยาก กอปรกับต้นทุนในการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งการลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อรีไซเคิลสิ่งทอยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม คาดว่าต้นทุนในการผลิตเสื้อผ้าที่ทำมาจากเส้นใย รีไซเคิลจะมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากบริษัทต่างๆ สนใจที่จะลงทุนในเทคโนโลยีการผลิตเสื้อผ้า รวมถึงการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการรีไซเคิล ขณะที่ผู้บริโภคมีความต้องการสิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยินดีที่จะซื้อเสื้อผ้าที่ทำมาจากวัสดุรีไซเคิลในราคาที่สูงขึ้น[6] ทำให้ในปัจจุบันมีบริษัทผู้ประกอบการเสื้อผ้าทั้งในต่างประเทศและผู้ประกอบการไทยออกผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าที่ทำมาจากวัสดุรีไซเคิลมากขึ้น ซึ่งบางบริษัทมีเป้าหมายการผลิตเสื้อผ้าที่ทำมาจากผ้ารีไซเคิล 100% ในช่วง 3-8 ปีข้างหน้า เช่น Zara และ H&M เป็นต้น (ตารางที่ 1)

ทำไมตลาด Textile Recycling จึงมีความน่าสนใจ

Textile Recycling เป็นแนวทางที่สอดรับกับ BCG Model ซึ่งตอบโจทย์ทั้งผู้บริโภคในแง่ของการรักษ์สิ่งแวดล้อม และผู้ผลิตทั้งในด้านการลดความเสี่ยงจากการผันผวนของราคาวัตถุดิบ รวมถึงเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้า ซึ่งจะทำให้การรีไซเคิลสิ่งทอมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  1. ตอบโจทย์กระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม

การผลิตเสื้อผ้าที่ทำมาจากขยะสิ่งทอก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการผลิตเสื้อผ้าทั่วไป ทั้งในแง่ของการใช้ทรัพยากรน้ำและที่ดิน รวมทั้งลดการใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลงและสารเคมีในการฟอกย้อมสี ดังจะเห็นได้จากงานวิจัยของ Shameek Vats, Marja Rissanen (2016) ที่ชี้ว่า การใช้ขยะสิ่งทอทุกๆ  1 กิโลกรัมสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซ CO2 ราว 3.6 kgCO2e รวมทั้งช่วยประหยัดน้ำ 6,000 ลิตร ปุ๋ยเคมี 0.3 กิโลกรัม และยาฆ่าแมลง 0.2 กิโลกรัม [7]นอกจากนี้ ที่ดินสำหรับปลูกฝ้ายยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตรอื่นๆ สอดคล้องกับงานวิจัยของ Toshiro Semba, Yuji Sakai (2020) ชี้ว่า การรีไซเคิลเสื้อผ้าที่ใช้แล้วทุกๆ 1 กิโลกรัมสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซ CO2 ได้ราว 3.2-6.7 kgCO2e[8] (ตารางที่ 2)

ซึ่งในปัจจุบัน พฤติกรรมของผู้บริโภคสนใจที่จะซื้อเสื้อผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่งผลดีต่อการเติบโตของ Textile Recycling สะท้อนจากผลสำรวจของ McKinsey & Company (2022) ชี้ว่า 54% ของผู้บริโภคชาวสหรัฐฯ ตั้งใจที่จะซื้อเสื้อผ้าที่ทำมาจากวัสดุรีไซเคิลมากขึ้น [9]สอดคล้องกับผลสำรวจของ Eurobarometer (2020) ชี้ว่า 77% ของผู้บริโภคชาวสหภาพยุโรปส่งเสริมการผลิตเสื้อผ้าที่ทำมาจากวัสดุรีไซเคิล[10] ขณะที่ผลสำรวจของ PR Newswire (2019) ชี้ว่า 83% ของผู้บริโภคชาวจีนจะเลือกซื้อเสื้อผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ผลิตมาจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุรีไซเคิล เป็นต้น [11](รูปที่ 4) นอกจากนี้ ผลสำรวจของ The European Apparel and Textile Confederation (2022) ชี้ว่า เกือบครึ่งของผู้บริหารแบรนด์เสื้อผ้าค้าปลีกในยุโรป คาดว่าจะมีผลิตภัณฑ์เสื้อผ้ามากกว่า 30% ที่ผลิตมาจากเส้นใยรีไซเคิลภายในปี 2568 [12]ซึ่งสะท้อนถึงแนวโน้มความต้องการเสื้อผ้าที่ตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนมากขึ้น ทำให้มูลค่าตลาดของ Textile Recycling มีแนวโน้มที่จะเติบโตได้อีกมากในอนาคต

  1. ลดความเสี่ยงจากราคาวัตถุดิบเสื้อผ้าที่มีความผันผวน

การผลิตเสื้อผ้าที่ทำมาจากขยะสิ่งทอถือเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในการช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของต้นทุนวัตถุดิบ จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดภัยแล้งรุนแรง ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางเกษตรอย่างฝ้าย ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเสื้อผ้าทั่วโลก เนื่องจากการเพาะปลูกฝ้ายจำเป็นต้องใช้น้ำจำนวนมาก ทำให้ราคาฝ้ายมีความผันผวนและยังอยู่ในระดับสูง (รูปที่ 5) สะท้อนจากประมาณการของ World Bank ที่คาดว่า ราคาฝ้ายเฉลี่ยของโลกในช่วงปี 2566-2578 จะอยู่ที่ราว 2.2-2.9 เหรียญสหรัฐฯ ต่อกิโลกรัม ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2560-2564 ซึ่งอยู่ที่ 1.9 เหรียญสหรัฐฯ ต่อกิโลกรัม นอกจากนี้ การผลิตเสื้อผ้าที่ทำมาจากขยะสิ่งทอยังช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ เช่น ไทยจำเป็นต้องนำเข้าฝ้ายจากสหรัฐฯ อินเดีย และจีนมากถึง 99% ของความต้องการใช้ในประเทศทั้งหมดเพื่อนำมาผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เนื่องจากไทยผลิตฝ้ายได้เพียงปีละประมาณ 1,200 ตันเท่านั้น[13]

  1. ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิต

เทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตเสื้อผ้าที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วจะทำให้การรีไซเคิลสิ่งทอมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปสามารถแบ่งออกเป็น 2 วิธีหลัก ได้แก่ การรีไซเคิลเชิงกล (Mechanical recycling) เป็นการรีไซเคิลด้วยการตัดและการบด ซึ่งใช้พลังงานต่ำและประหยัดต้นทุน แต่เส้นใยรีไซเคิลจะมีคุณภาพต่ำ ส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์และเฟอร์นิเจอร์ เช่น ผ้าสำหรับทำความสะอาด วัสดุบุรอง เป็นต้น และการรีไซเคิลเชิงเคมี (Chemical recycling) เป็นการรีไซเคิลที่ใช้กระบวนการทางเคมีด้วยตัวทำละลาย ซึ่งกระบวนการต้องใช้พลังงานไฟฟ้าที่สูงกว่าการรีไซเคิลเชิงกล แต่เส้นใยรีไซเคิลจะมีคุณภาพใกล้เคียงกับเส้นใยบริสุทธิ์ (ตารางที่ 3)

นอกจากนี้ เม็ดเงินลงทุนในเทคโนโลยีการผลิตเสื้อผ้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมากจะเป็นปัจจัยเร่งต่อการเติบโตของธุรกิจ Textile Recycling และจะทำให้ต้นทุนในการรีไซเคิลสิ่งทอมีแนวโน้มลดลง โดยข้อมูลจาก Dealroom พบว่า มูลค่าเงินลงทุนจากธุรกิจการร่วมลงทุน (Venture Capital) ในกลุ่ม Startup ที่เกี่ยวกับ Textile Recycling เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยในปี 2564 มีเงินลงทุนคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2563 มีมูลค่าเพียง 569 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้น 287%YoY (รูปที่ 6) ซึ่งจะช่วยหนุนให้อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมีเทคโนโลยีในการผลิตเสื้อผ้ารีไซเคิลที่หลากหลายมากขึ้น โดยในปัจจุบันมีบริษัทที่นำเทคโนโลยีรีไซเคิลเสื้อผ้ามาปรับใช้ในเชิงพาณิชย์ เช่น บริษัท Circ ซึ่งเป็นบริษัท Startup สัญชาติสหรัฐฯ ที่ทำธุรกิจ Textile Recycling ระดมทุนราว 30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.05 พันล้านบาท) สำหรับเทคโนโลยีการรีไซเคิลเส้นใยผสม (Textile-blend recycling) ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการนำไปรีไซเคิลเป็นเส้นใยใหม่ที่มีคุณภาพสูงตามสัดส่วนที่ต้องการ

มูลค่าตลาด Textile Recycling ของโลกจะใหญ่แค่ไหน

ในปี 2575 มูลค่าตลาด Textile Recycling ของโลกคาดว่าจะอยู่ที่ 1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 5.6 แสนล้านบาท) จากในปี 2565 ที่มีมูลค่า 5.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 2 แสนล้านบาท) หรือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 10.7%CAGR (รูปที่ 7) ตามรายงานของ Future Market Insights (2022) ความกังวลด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม กอปรกับการเพิ่มขึ้นของการลงทุนในเทคโนโลยีการรีไซเคิลสิ่งทอจะเป็นปัจจัยเร่งให้มูลค่าตลาด Textile Recycling เติบโตมากขึ้น โดยในปี 2565 ตลาดรีไซเคิลเสื้อผ้าในยุโรปและสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดราว 26% และ 24% ตามลำดับ ส่วนตลาดรีไซเคิลเสื้อผ้าในเอเชียแปซิฟิกมีแนวโน้มที่จะเติบโตเร็วที่สุดในช่วงปี 2565-2575 โดยเฉพาะตลาดรีไซเคิลเสื้อผ้าในอินเดียและจีน  มีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยถึง 15.2%CAGR และ 13.6%CAGR ตามลำดับ เนื่องจากบริษัท Startup ในอินเดียมีการลงทุนในเทคโนโลยีการรีไซเคิลเสื้อผ้ามากขึ้น ขณะที่จีนเป็นศูนย์กลางการผลิตและจัดหาสิ่งทอรายใหญ่ที่สุดของโลก ทำให้เอื้อต่อการนำสิ่งทอกลับมาผลิตใหม่ได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพ

สำหรับประเทศไทย Krungthai COMPASS คาดว่า ในปี 2575 มูลค่าตลาด Textile Recycling จะอยู่ที่ราว 1.3 พันล้านบาท หรือราว 0.5% ของมูลค่าตลาดเสื้อผ้าของไทย ซึ่งจะอยู่ที่ราว 258.2 พันล้านบาท โดยมีวิธีประเมิน ดังนี้

  • ประเมินมูลค่าตลาด Textile Recycling ของไทยในปี 2575 โดยใช้มูลค่าตลาด Textile Recycling ของโลกในปี 2575 ซึ่งอยู่ที่ 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และสัดส่วนมูลค่าตลาด Textile Recycling ของเอเชียแปซิฟิก ซึ่งอ้างอิงจาก Grand View Research (2022) ที่ระบุว่ามูลค่าตลาด Textile Recycling ของเอเชียแปซิฟิก คิดเป็นสัดส่วน 21.5% ของมูลค่าตลาด Textile Recycling ของโลก หรืออยู่ที่ราว 3,440 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และกำหนดให้มูลค่าตลาด Textile Recycling ของแต่ละประเทศในเอเชียเป็นสัดส่วนเดียวกับความต้องการบริโภคเสื้อผ้าที่มีความยั่งยืนของแต่ละประเทศในเอเชีย (Sustainable Apparel Share) แล้วจึงประเมินมูลค่าตลาด Textile Recycling ของเอเชียแปซิฟิกในปี 2575 ด้วยสัดส่วนความต้องการบริโภคเสื้อผ้าที่มีความยั่งยืนของไทยต่อความต้องการบริโภคเสื้อผ้าที่มีความยั่งยืนของเอเชีย ซึ่งอยู่ที่ 1.05% โดยอ้างอิงจาก Statista Global Consumer Survey (2021) จะทำให้ได้มูลค่าตลาด Textile Recycling ของไทยอยู่ที่ราว 36 ล้านเหรียญสรัฐฯ หรือเท่ากับ 1.3 พันล้านบาท (กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเท่ากับ 35 บาท ต่อ 1 เหรียญสหรัฐฯ)
  • ประเมินมูลค่าตลาดเสื้อผ้าของไทยในปี 2575 อยู่ที่ราว 258.2 พันล้านบาท โดยใช้ประมาณการของปริมาณการจำหน่ายเสื้อผ้าและราคาเสื้อผ้าเฉลี่ยของไทย ซึ่งอ้างอิงจาก Statista

หากผู้ประกอบการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยหันมาใช้ Textile Recycling มากขึ้นจะส่งผลอย่างไร

Krungthai COMPASS ประเมินว่า การผลิตสิ่งทอจากเส้นใยรีไซเคิลจะช่วยเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นได้ ยกตัวอย่างเช่น การผลิตเสื้อยืดจากเส้นใยรีไซเคิล 100% จะช่วยให้ผู้ผลิตมีกำไรเพิ่มขึ้นราว 3%/ตัว เมื่อเปรียบเทียบกับกำไรของเสื้อยืดทั่วไป โดยราคาขายจริงเฉลี่ยในตลาดของเสื้อยืดทั่วไปอยู่ที่ 400 บาท/ตัว ส่วนต้นทุนของการผลิตเสื้อยืดทั่วไปจะอยู่ที่ราว 45% ของราคาขาย หรือ 180 บาท/ตัว ซึ่งต้นทุนของวัตถุดิบเส้นใยคิดเป็นสัดส่วนราว 20% ของต้นทุนรวมหรือ 36 บาท/ตัว และต้นทุนอื่นๆ อยู่ที่ 144 บาท/ตัว ทำให้กำไรขั้นต้นอยู่ที่ 220 บาท/ตัว หรือ 55%/ตัว ขณะที่เสื้อยืดที่ทำมาจากเส้นใยรีไซเคิลมีราคาขายอยู่ที่ราว 450 บาท/ตัว แต่ต้นทุนวัตถุดิบเส้นใยรีไซเคิลจะเพิ่มขึ้น 30% จากเสื้อยืดทั่วไปเป็น 46.8 บาท/ตัว และเมื่อต้นทุนอื่นๆ คงที่อยู่ที่ 144 บาท/ตัว ทำให้ผู้ผลิตมีกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 259.2 บาท/ตัว หรือ  58%/ตัว ซึ่งมากกว่ากำไรของการผลิตเสื้อยืดทั่วไปที่ 3%/ตัว (ตารางที่ 4)

นอกจากนี้ การผลิตสิ่งทอจากเส้นใยรีไซเคิล 100% ยังช่วยลดปริมาณของการใช้น้ำมากถึง 95% และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 45% ต่อปี [14]เนื่องจากการใช้เส้นใยรีไซเคิลเป็นวัตถุดิบในการผลิตสิ่งทอจะช่วยลดการปลูกฝ้าย และลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงในการผลิตเส้นใยบริสุทธิ์ใหม่อีกครั้ง ยกตัวอย่างเช่น กรณีบริษัทผลิตผ้าฝ้ายทอจากฝ้ายรีไซเคิล 100% โดยมีกำลังการผลิตประมาณ 100,000 กิโลกรัมต่อปี จะสามารถช่วยลดปริมาณการใช้น้ำ46 พันลูกบาศก์เมตรต่อปี หรือราว 600,000-700,000 บาทต่อปี รวมทั้งช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 600 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับการปลูกป่าจำนวน 50,000 ต้น [15](รูปที่ 8)

Implication:

Krungthai COMPASS มองว่า แม้การผลิตเสื้อผ้า Textile Recycling จะช่วยเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้น อีกทั้งยังช่วยลดปริมาณการใช้น้ำ และการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เมื่อเทียบกับการผลิตเสื้อผ้าทั่วไปที่ใช้เส้นใยบริสุทธิ์ อย่างไรก็ดี ยังมีอุปสรรคและความท้าทายที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมสิ่งทอต้องพิจารณา ดังนี้

ผู้ประกอบการไทย

  • ความซ้บซ้อนของเทคโนโลยีการรีไซเคิลสิ่งทอ เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่อยู่ในระยะนำร่อง (Pilot Scale) แต่มีแนวโน้มได้รับความสนใจมากขึ้น ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องเรียนรู้ และลงทุนในการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้สามารถเลือกเทคโนโลยีการรีไซเคิลที่เหมาะสมกับเส้นใยแต่ละชนิด ตลอดจนควรศึกษากฎระเบียบและการรับรองมาตรฐานของสิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น Thailand Textile Tag, Smart Fabric, ฉลากคาร์บอนฟุตปริ้นท์ และฉลากลดโลกร้อน เป็นต้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก รวมทั้งเป็นการเตรียมพร้อมในการส่งออกเสื้อผ้ารีไซเคิลที่อาจมีเงื่อนไขทางการค้าของประเทศผู้นำเข้า
  • ปัญหาความไม่แน่นอนของอุปทานเสื้อผ้าที่ใช้แล้วเพื่อนำมารีไซเคิล ปัจจุบันยังขาดกระบวนการรวบรวมและคัดแยกสิ่งทอที่เป็นระบบ กอปรกับเสื้อผ้าส่วนใหญ่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรีไซเคิลได้ 100% ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรเริ่มปรับเปลี่ยนมาใช้วัสดุในการผลิตเสื้อผ้าที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ 100% รวมทั้งรับผิดชอบ
    ต่อผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าของบริษัทตลอดห่วงโซ่คุณค่า ด้วยการรับบริจาคหรือรับซื้อเสื้อผ้าเก่าจากลูกค้ามาผลิตเป็นเสื้อผ้าใหม่ ยกตัวอย่างเช่น บริษัท UNIQLO จัดทำโครงการ RE.UNIQLO เพื่อรวบรวมเสื้อผ้าที่ใช้แล้วจากลูกค้า โดยให้คูปองส่วนลดเงินสดตั้งแต่ 200-1,000 เยน (ประมาณ 50-250 บาท) ซึ่งเสื้อผ้าจะถูกนำมาผ่านกระบวนการรีไซเคิลเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ อีกทั้งยังร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรหลายรายในการนำเสื้อผ้าที่ใช้แล้วที่อยู่ในสภาพดีไปส่งมอบให้กับผู้ลี้ภัย ผู้ประสบภัยธรรมชาติ รวมถึงผู้ขาดแคลนทั่วโลก เป็นต้น

ภาครัฐ

  • ขาดมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ ทำให้ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้ารีไซเคิลยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก ภาครัฐจึงควรเร่งส่งเสริมการผลิตเสื้อผ้ารีไซเคิลอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะมาตรการทางภาษีและมิใช่ภาษี เพื่อกระตุ้นให้เกิดการผลิตและการใช้เสื้อผ้ารีไซเคิลในสัดส่วนที่มากขึ้น เช่น มาตรการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในการขายผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าที่ทำมาจากวัสดุรีไซเคิล มาตรการลดหย่อนภาษีประจำปีสำหรับลูกค้าที่นำเสื้อผ้าที่ใช้แล้วมาบริจาคให้แก่ผู้ประกอบการ มาตรการสนับสนุน เงินลงทุนในเทคโนโลยีการรีไซเคิลสิ่งทอ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs เป็นต้น

[1] อ้างอิงจาก Textiles and the environment, European Environment Agency

[2] อ้างอิงจาก United Nations Climate Change, 2021

[3] อ้างอิงจาก Measuring carbon emissions in the garment sector in Asia, ILO

[4] อ้างอิงจาก The water footprint of cotton consumption, UNESCO-IHE

[5] อ้างอิงจาก A new textiles economy: Redesigning fashion’s future, Ellen Macarthur Foundation

[6] อ้างอิงจาก Sustainability in Fashion Must Be Eco- and Budget-Friendly

[7] อ้างอิงจาก Parameters Affecting the Upcycling of Waste Cotton and PES/CO Textiles

[8] อ้างอิงจาก Greenhouse Gas Emissions Reductions by Reusing and Recycling Used Clothing in Japan

[9] อ้างอิงจาก Closing the loop: Increasing fashion circularity in California, McKinsey & Company

[10] อ้างอิงจาก European Commission, Eurobarometer Survey

[11] อ้างอิงจาก Sustainable consumption in China

[12] อ้างอิงจาก EURATEX Facts & Key Figures

[13] อ้างอิงจาก OECD-FAO Agricultural Outlook 2022-2031

[14] อ้างอิงจาก Lifestyle Sustainability, SD Perspectives

[15] อ้างอิงจากเอกสารวิชาการ เรื่อง การประเมินการกักเก็บคาร์บอนในภาคป่าไม้ และโครงการ T-VER โดยใช้การปลูกต้นไม้ยืนต้นพรรณไม้พื้นเมืองโตช้า/พรรณไม้อเนกประสงค์ ซึ่ง 1 ต้น สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เฉลี่ย 12 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ใช้ระยะปลูก 4 x 4 เมตร โดยปลูกจำนวน 100 ต้นต่อไร่

ที่มา : https://moneyandbanking.co.th/2023/20829/

ความคิดเห็นของคุณ
*
*