กรม ทช. เก็บตัวอย่างขยะทะเลและศึกษาปริมาณขยะบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก เพื่อตรวจสอบบาร์โค้ดเป้าหมายเพื่อให้ผู้ผลิตตระหนักถึงพลาสติกและขยะที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อม และหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลหรือย่อยสลายได้
10 พ.ย.2567 – เมื่อช่วงวันที่ 5-8 พฤศจิกายน 2567 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างขยะทะเลและศึกษาปริมาณขยะขนาดกลาง (5-25 มม.) บริเวณหาดบางแสน และหาดจอมเทียน จังหวัดชลบุรี หาดน้ำริน จังหวัดระยอง หาดแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี และหาดตาหนึก จังหวัดตราด พร้อมทั้งเก็บข้อมูลทางกายภาพและการใช้ประโยชน์ แล้วทำการจำแนกชนิด ประเภท และชั่งน้ำหนักขยะ เบื้องต้นจากการเก็บขยะทะเลเป็นระยะทางรวม 300 เมตร
พบขยะประเภทพลาสติกมากที่สุด ได้แก่ ขวดน้ำ ถุง และช้อนส้อมพลาสติก โดยมีน้ำหนักรวม ดังนี้ หาดบางแสน 19.1 กก. หาดจอมเทียน 15.7 กก. หาดน้ำริน 4.8 กก. หาดแหลมสิงห์ 4.25 กก. และหาดตาหนึก 87.3 กก.
วัตถุประสงค์เพื่อนำมาศึกษาปริมาณของขยะในเชิงระบุยี่ห้อสินค้า แหล่งที่มาของขยะจากเลขบาร์โค้ด ปริมาณผลิตภัณฑ์พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Plastic) 7 ชนิด และประเมินการสลายตัวของขยะขนาดใหญ่ เป้าหมายเพื่อให้ผู้ผลิตตระหนักถึงพลาสติกและขยะที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อม และหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลหรือย่อยสลายได้ รวมทั้งเป็นข้อมูลพื้นฐานในการบริหารจัดการและการแก้ไขปัญหาขยะทะเลในระบบนิเวศอย่างยั่งยืนต่อไป.