อายิโนะโมะโต๊ะ ประกาศทุ่ม 3,000 ล้าน ลงทุนในนวัตกรรมใหม่ มุ่งสู่องค์กรธุรกิจคาร์บอนต่ำ  พร้อมรีแบรนด์บริษัทการเกษตร สู่ อายิโนะโมะโต๊ะ  เอฟ ดี กรีน

ภาพ1

มร. เค็นจิ ฮะระดะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า  ปีที่ผ่านมา อายิโนะโมะโต๊ะ เดินหน้าพันธกิจในการยืดช่วงอายุขัยของการมีสุขภาพดีให้กับผู้คน 1 พันล้านคนทั่วโลก ได้ต่อยอดผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อะมิโนไวทัล (BCAAs) และ อะมิโนมอฟ (ลิวซีน) ผลิตภัณฑ์บำรุงกล้ามเนื้อและข้อต่อ สำหรับนักกีฬาและผู้สูงอายุ เป็นความเคลื่อนไหวใหม่ของบริษัท

สำหรับปี 2567 อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) บริษัทธุรกิจอาหาร เปิดแผนยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนปี 5 แนวทางเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินธุรกิจ ประกอบด้วย

1) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50%

2) ดูแลรักษาแหล่งน้ำ 80%

3) ลดขยะพลาสติกให้เป็นศูนย์ ด้วยการใช้พลาสติกรีไซเคิล

4) ลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหารจากกระบวนการผลิต

5) จัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืนทั้ง 100%

ภาคการผลิตในโรงงาน

  • ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยการใช้พลังงานทางเลือกและพลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ ในกระบวนการผลิตแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งสามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 380,000 ตันต่อปี
  • ปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์พลาสติกให้เป็นวัสดุที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ ลดปริมาณการสูญเสียอาหารและขยะอาหารได้ประมาณ 1,300 ตัน
  • เปลี่ยนยูนิฟอร์มพนักงานอายิโนะโมะโต๊ะ ซึ่งผลิตขึ้นจากขวดน้ำพลาสติกที่ใช้แล้ว
  • ลดการใช้น้ำต่อหน่วยการผลิตลงถึง 91% (ช่วงปี 2566 เทียบกับปี 2548)

ภาพ2

  • จัดการน้ำทิ้งได้มาตรฐานสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดก่อนปล่อยคืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ

ภาคการจัดหาวัตถุดิบ

  • นำเม็ดพลาสติกที่ได้จากกระบวนการรีไซเคิลพลาสติกที่ผ่านการใช้งานแล้ว (Post-consumer resin: PCR) มาเป็นส่วนผสมในการผลิตบรรจุภัณฑ์ โดยได้เริ่มใช้ในฟิล์มหดสำหรับห่อกาแฟกระป๋องเบอร์ดี้ และกำลังพัฒนาเพื่อนำมาใช้ในบรรจุภัณฑ์อื่น ๆ
  • ปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์พลาสติกให้เป็นวัสดุที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ โดยสามารถปรับเปลี่ยนไปได้แล้วกว่า 56% (เทียบกับบรรจุภัณฑ์พลาสติกทั้งหมดในปี 2562)

ภาคครัวเรือน  จัดโครงการ “Too Good To Waste กินหมดลดโลกร้อน”เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในการร่วมลดขยะอาหารแก่ผู้บริโภค

ภาคเกษตรกรรม ต่อยอดองค์ความรู้ด้านกรดอะมิโน ผ่านผลิตภัณฑ์ร่วมที่ได้จากกระบวนการผลิตผงชูรส นำไปสนับสนุนเกษตรกรให้สามารถผลิตผลผลิตได้อย่างยั่งยืน

โรงงานอายิโนะโมะโต๊ะ จังหวัดกำแพงเพชร

โรงงานกำแพงเพชร บนเนื้อที่รวม 1,250 ไร่ พื้นที่โรงงาน 425 ไร่ นับได้ว่าเป็นต้นแบบโรงงานสีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน (Eco-greenest Friendly Factory) ด้วยระบบจัดการทรัพยากรทางการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการใช้พลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีสีเขียวที่ล้ำสมัย

ภาพ3

ปัจจุบัน ประกอบด้วย 2 สายการผลิต โดยทำการผลิตผงชูรสอายิโนะโมะโต๊ะ และวัตถุปรุงแต่งอาหารโรโบนิวคลีโอไทด์ แบรนด์ “อายิไทด์ ไอ พลัส จี” ที่ใช้เสริมรสชาติคู่กับผงชูรสในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ เพื่อจำหน่ายในประเทศไทยและส่งออกไปยังกว่า 40 ประเทศทั่วโลก

รวมทั้งผลิตภัณฑ์ W-Plus ส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น ซึ่งแบ่งอัตราส่วนการผลิตออกเป็น ผงชูรสอายิโนะโมะโต๊ะ 92% และอายิไทด์ไอ พลัส จี 8%

ภาพ4

คุณนัฏทพนธ์ พานิชดี ผู้จัดการโรงงานอายิโนะโมะโต๊ะ จังหวัดกำแพงเพชร เผยว่า โรงงานอายิโนะโมะโต๊ะ กำแพงเพชร เป็นฐานการผลิตสำคัญ และเป็นต้นแบบโรงงานสีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้พลังงานทดแทน เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น เทคโนโลยีหม้อต้มไอน้ำพลังงานชีวมวล  โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมจากชีวมวล ที่นำแกลบและชานอ้อยที่เหลือจากภาคการเกษตรมาเป็นเชื้อเพลิงสำหรับกระบวนการผลิตภายในโรงงาน

ตลอดจนการลงทุนติดตั้งระบบ Solar Panel เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2561 พื้นที่ 900 ตารางเมตร กำลังการผลิต 117 กิโลวัตต์  เงินลงทุน 7.2 ล้านบาท คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนไฟฟ้า 0.5 ล้านบาทต่อปี

 

รีแบรนด์ เอฟ ดี กรีน รุกภาคเกษตร

เปิดตัว บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ เอฟ ดี กรีน (ประเทศไทย) จำกัด รีแบรนด์จาก บริษัท เอฟ ดี กรีน (ประเทศไทย) จำกัด ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2544 เพื่อจัดการกับผลิตภัณฑ์ร่วมที่ได้จากกระบวนการผลิตผงชูรสและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร

ภาพ5

ดร. โคะเฮ อิชิกะวะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ เอฟ ดี กรีน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การรีแบรนด์ เอฟ ดี กรีน สู่บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ เอฟ ดี กรีน (ประเทศไทย) จำกัด เนื่องจากชื่อของ บริษัท เอฟ ดี กรีน อาจยังไม่เป็นที่จดจำในสายตาลูกค้า เมื่อมีชื่ออายิโนะโมะโต๊ะเข้ามา ช่วยให้คนเข้าใจได้ว่าเป็นบริษัทในเครือ

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯมี 11 ผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็น 2 หมวดหมู่ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตร เช่น กระเทียม เมล็ดกาแฟ  และผลิตภัณฑ์เพื่อการเกษตร ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์สำหรับพืช และอาหารสำหรับสัตว์

ล่าสุด เปิดตัวปุ๋ยชีวภาพใหม่ ‘ปุ๋ยอามินา’ ปุ๋ยส่งเสริมการเจริญเติบโตของรากด้วยการตรึงไนโตรเจน ละลายธาตุอาหารในดินและสร้างสารอาหารจำเป็นเพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช  ส่งผลให้ขณะนี้บริษัทมีแบรนด์ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร คือ อามิอามิ, อามินา, รูทเมท, ซุปเปอร์แอช, Amimate, Amimate-J, A-Tein

โดยมุ่งส่งเสริมเกษตรกรไทย ทั้งผู้ปลูกมันสำปะหลัง อ้อย และข้าว ในจังหวัดกำแพงเพชรและจังหวัดใกล้เคียงเป็นหลักก่อน  ผ่านการจัดทำโครงการหลัก ได้แก่

  • โครงการ Thai Farmer Better Life Partner เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ต่อยอดเกษตรสู่ไร่กาแฟ ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตกาแฟเบอร์ดี้ โดยนำเอาน้ำหมักที่เหลือจากระบวนการผลิตมาต่อยอดเป็นปุ๋ยอินทรีย์

นอกจากนั้น ยังให้การช่วยเหลือเกษตรกรครบวัฏจักร นอกเหนือจากการสนับสนุนปุ๋ย ยังช่วยวิจัยดิน เพื่อแปรสภาพดินให้พร้อมก่อนการเพาะปลูก ซึ่งจากการวิเคราะห์ดินส่วนใหญ่ พื้นที่ในกำแพงเพชรล้วนอยู่ในเกณฑ์วิกฤต และยังต่อเนื่องไปจนถึงการช่วยศึกษาเรื่องโรคระบาด ช่วยยับยั้งตั้งแต่ต้นลม

ภาพ6

  • โครงการ Green Coffee Bean (GCB) Farmer Sustainability สนับสนุนปุ๋ยเคมีอินทรีย์ที่พัฒนามาจากศาสตร์แห่งกรดอะมิโนให้แก่เกษตรกร เพื่อลดปริมาณการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก รวมทั้งช่วยพัฒนาความรู้การปลูก ดูแล เก็บเกี่ยวเมล็ดกาแฟ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ บริษัทยังรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรเหล่านั้นตามระบบการประกันคุณภาพของ บริษัทอายิโนะโมะโต๊ะ (ASQUA) ในแต่ละขั้นตอนของซัปพลายเชนในราคาที่เป็นธรรม

ภาพ7

ที่มา : https://marketeeronline.co/archives/345565