เว็ปไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็ปไซต์ของเรา
อินโดรามา เวนเจอร์ส ตั้งเป้า ปี 2573 รีไซเคิลพลาสติกให้ได้ปีละ 1 แสนล้านขวด มุ่งเดินหน้าลงทุนในการรีไซเคิลขั้นสูง วัตถุดิบตั้งต้นจากชีวภาพ และการร่วมมือกับสตาร์ทอัพด้านความยั่งยืนหลากหลายแห่ง
Key Point :
ขวดพลาสติก PET เป็นบรรจุภัณฑ์ที่เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลสูงที่สุด เนื่องจากสามารถนำมารีไซเคิลได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง และนำมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ในหลายรูปแบบ รวมทั้งมีมูลค่าการรับซื้อสูง อีกทั้ง ปัจจุบัน ประเทศไทยได้มีการปลดล็อกการนำขวดพลาสติกรีไซเคิล 'rPET' มาผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่ม ถือเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนได้มากยิ่งขึ้น
รีไซเคิล 1 แสนล้านขวดต่อปี
แอนโทนี วาตานาเบ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านความยั่งยืน อินโดรามา เวนเจอร์ส ให้สัมภาษณ์ กรุงเทพธุรกิจ ว่า ตั้งแต่ปี 2554 อินโดรามา เวนเจอร์ส รีไซเคิลขวด PET ไปแล้วกว่า 1 แสนล้านขวด และภายในปี 2573 ตั้งเป้ารีไซเคิลให้ได้ปีละ 1 แสนล้านขวด จะต้องเพิ่มกำลังการรีไซเคิลของทุกโรงงานให้ได้ ไม่ว่าจะจำนวนโรงงาน กำลังการผลิต และการใช้เทคโนโลยีในการรีไซเคิล Chemical Recycling เพื่อส่งเสริมเป้าหมายให้สำเร็จ
“สำหรับประเทศไทย จากโรงงานแห่งแรกที่ จ.นครปฐม ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2557 มีการขยายกำลังการผลิต 3.3 หมื่นตันต่อปี และในแผนการลงทุนจะมีการสร้างโรงงานอีก 1 แห่งที่ จ.สระบุรี จะทำให้สามารถรีไซเคิลได้เพิ่มมากขึ้น อีกทั้ง การที่ประเทศไทย มีการปลดล็อกการนำพลาสติกรีไซเคิลไปผลิตขวดสำหรับบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม หรือ rPET ทำให้เรามีโอกาสในการผลิตเม็ด PET รีไซเคิลมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า ขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนการสุดท้ายที่จะได้รับใบรับรองในการนำไปใช้ คาดว่าอย่างช้าในปีหน้า จะมีผลิตภัณฑ์จากบรรจุภัณฑ์ PET รีไซเคิล”
ที่ผ่านมา อินโดรามา เวนเจอร์ส ได้มีการผลิตเม็ดพลาสติก PET รีไซเคิลสำหรับบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ส่งขายต่างประเทศเท่านั้น โดยโรงงานที่ จ.นครปฐม ได้รับการรับรองจากประเทศอื่นๆ มาแล้วหลายปีไม่ว่าจะเป็น องค์การอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ของสหรัฐ และ ญี่ปุ่น เพื่อที่จะสามารถส่งขายให้ลูกค้าที่จะจำหน่ายสินค้าในประเทศเหล่านั้น
ทั่วโลกเก็บกลับ PET ราว 60%
แอนโทนี กล่าวต่อไปว่า ภาพรวมทั่วโลก พบว่า อัตราการเก็บกลับพลาสติก PET จะอยู่ที่ราว 60% ขณะที่ประเทศไทย มีอัตราการเก็บกลับมากกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เนื่องจากมีการขายต่อและการเก็บกลับค่อนข้างเยอะ เช่น ช่วงเทศกาลจะมีการเก็บกลับขวดได้เพิ่มมากขึ้น
การเก็บขวดกลับต้องได้รับการร่วมมือกับหลายภาคส่วน โดยภาคส่วนที่สำคัญ คือ ภาครัฐหรือผู้กำหนดนโยบาย ท้องถิ่น การเอื้ออำนวยให้คนแยกขยะ ปีที่ผ่านมาได้จัดทำโครงการ WASTE HERO เริ่มต้นที่ประเทศไทย ให้ความรู้เด็กๆ ในสถานที่ต่างๆ รวมถึงคนทั่วไป ปัจจุบัน ให้ความรู้ราว 20,000 คนต่อปี โดยในปีนี้ขยายเป็นโครงการระดับโลก ทำหลักสูตรการเรียนรู้แต่ละระดับและแปลเป็นภาษาต่าง เพื่อให้ทีมงานแต่ละประเทศไปใช้ ตั้งเป้าให้ความรู้ให้ครบ 1 ล้านคน ภายในปี 2573
“การเก็บกลับขวดพลาสติกให้เพิ่มมากขึ้น มี 2 รูปแบบที่ยังไม่มีในเมืองไทย คือ การได้เงินเมื่อซื้อของแล้วนำเอาขวดกลับไปคืน ซึ่งในต่างประเทศมีการใช้แล้วและเป็นนโยบายที่ได้รับการตอบรับที่ดี ถัดมา คือ Extended Producer Responsibility (EPR) การขยายการรับผิดชอบของผู้ผลิต ในการเก็บขวดกลับมามากขึ้น อาจจะต้องจ่ายในราคาที่มากขึ้น เพื่อนำขวดกลับมาที่ต้นทาง แต่เป็นรูปแบบที่จะส่งเสริมให้เกิดการเก็บกลับได้มากขึ้น”
สำหรับ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทเคมีภัณฑ์ที่มีฐานการผลิตทั่วโลกทั้งในยุโรป แอฟริกา สหรัฐอเมริกา และเอเชียแปซิฟิก 148 โรงงาน 35 ประเทศ 6 ทวีป โรงงานรีไซเคิล 20 แห่ง ศูนย์วิจัยพัฒนา 27 แห่ง มีพนักงานมากกว่า 30,000 คน มี 3 กลุ่มธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจ Combined PET ผลิตภัณฑ์ PET รีไซเคิล และวัตถุดิบต่างๆ ที่เป็นส่วนประกอบของ PET มีสัดส่วนใหญ่ที่สุดราว 60%
ธุรกิจ Integrated Oxides and Derivative (IOD) ผลิตโพรพิลีนออกไซด์ (PO) โมโนเอทิลีนไกลคอล (MEG) เอทิลีนออกไซด์ (EO) รวมทั้งอนุพันธ์และสารประกอบอื่นๆ อย่างผลิตภัณฑ์สารลดแรงตึงผิวต่างๆ สัดส่วน 20% และ ธุรกิจ Fibers ผลิตและจำหน่ายเส้นใยและเส้นด้านสำหรับสินค้าเพื่อสุขอนามัย และ Lifestyle สำหรับเสื้อผ้าเครื่องนุ่งหอมและของใช้ต่างๆ สัดส่วน 20%
ในปี 2565 มีการลงทุนด้านความยั่งยืน 369 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 3.84 % ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 3.32 % ลดอัตราการใช้น้ำ 1.70 % รีไซเคิลขวด 15,400 ล้านขวด หรือ 342,961 ตัน ให้ความรู้ด้านการรีไซเคิลผู้บริโภคทั่วโลก 253,372 คน (ปี 2561-2565) จัดการขยะแทนการฝั่งกลบ 72 % ลดอัตราการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น 2.1%
เทคโนโลยี เพิ่มขีดความสามารถ
หนึ่งในเทคโนโลยีที่น่าสนใจ ได้แก่ กระบวนการรีไซเคิลด้วยเอนไซม์ (Enzymatic Recycling) ของบริษัท CARBIOS บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพที่พัฒนาโซลูชั่น ใช้เอนไซม์ที่สามารถทำให้โพลิเมอร์ของ PET ซึ่งเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์พลาสติกและสิ่งทอ อาทิ ขวด ถาด ผ้าใยโพลิเอสเตอร์ ฯลฯ โดยวิธีการนี้จะช่วยลดมลพิษพลาสติกโดยใช้ประบวนการของธรรมชาติในการเปลี่ยนพลาสติกให้เป็นสารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ในแง่ของขยะพลาสติก การรีไซเคิลทางชีวภาพจะแยกพลาสติกออกเป็นวัตถุดิบพื้นฐาน ทำให้สามารถนำไปผลิตพลาสติกใหม่ได้โดยไม่ต้องใช้พลังงานสูง การรีไซเคิลทางชีวภาพ เป้นทางเลือกที่เป็นมิตรต่อโลกซึ่งสามารถลดการพึ่งพาปิโตรเคมี และลดปริมาณขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อมได้
โซลูชั่นดังกล่าว นำมาใช้ในอุตสาหกรรมเพื่อสร้างวงจรชีวิตใหม่สำหรับพลาสติกและสิ่งทอ โดยอินโดรามา เวนเจอร์ส และ CARBIOS จัดตั้งบริษัทร่วมทุนสำหรับก่อสร้างโรงงานรีไซเคิล PET เชิงชีวภาพแห่งแรกของโลกในประเทศฝรั่งเศส โดยใช้เทคโนโลยีที่สามารถทำให้โพลิเมอร์ของพลาสติก ที่ผ่านการใช้งานแล้วแตกตัวเป็นโมเลกุลเล็กๆ ด้วยเอนไซม์ ทำให้รีไซเคิล PET ให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ประสิทธิภาพและมีคุณภาพเทียบเท่ากับ PET ผลิตใหม่
“การลงทุนเหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถบรรลุมาตรฐานความยั่งยืนที่สูงขึ้น และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเติมเต็มเป้าหมายของอินโดรามา เวนเจอร์ส ในการร่วมกันยกระดับเคมีภัณฑ์เพื่อโลกที่ดีกว่า” แอนโทนี กล่าวทิ้งท้าย