เว็ปไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็ปไซต์ของเรา
สโลแกนของแบรนด์ MORE คือ Waste is MORE ด้วยความเชื่อที่ว่า waste หรือวัสดุเหลือใช้เป็นมากกว่าขยะ แต่เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า
‘เยื่อกาแฟจากธุรกิจกาแฟ’ ‘ฝุ่นไม้จากโรงงานไม้’ ‘ฝาขวดไม่ใช้แล้วจากขวดที่ใช้ในธุรกิจ’ และของใกล้ตัวอีกมากมาย ไม่น่าเชื่อว่าวัสดุเหล่านี้สามารถนำมาแปลงร่างให้กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์สวยในราคาพรีเมียมได้
แม้ในทุกวันนี้แต่ละธุรกิจจะมี waste เป็นขยะเหลือทิ้งจากการผลิตอย่างล้นหลาม แต่ทีม MORE บอกว่าความท้าทายที่สุดในการนำวัสดุมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ไม่ใช่ในเชิงเทคนิคหรือเชิงวิทยาศาสตร์ แต่จะทำยังไงให้ลูกค้ายินดีจะซื้อสินค้าจากขยะไปใช้ ทำยังไงให้ลูกค้าเปิดรับวัสดุทางเลือกใหม่และแต่ละธุรกิจหันมาสนใจสิ่งที่เป็นมากกว่าแค่กำไร
ด้วยเหตุนี้ บาส–จิระวุฒิ จันเกษม และ นัท–เจตนัตว์ ศุภพิพัฒน์ Co-founder ทั้ง 2 ท่านของ MORE จึงสร้างแบรนด์และทำธุรกิจร่วมกันขึ้นมาเพราะเชื่อว่าการสร้างโมเดลธุรกิจคือคำตอบที่ยั่งยืนของการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
ด้วยโมเดลธุรกิจที่แปลกใหม่และน่าสนใจ วันนี้เราจึงขอชวนคุยกับผู้ร่วมก่อตั้งทั้ง 2 ท่านและ เน็ท–จุมพล โซ่เจริญธรรม Senior Designer ถึงหลัก 4P+1 ในการทำธุรกิจภายใต้แบรนด์ MORE ว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่ควรคำนึงนอกจาก product, price, place, promotion เพื่อสร้างแบรนด์รักษ์โลกได้อย่างยั่งยืน
บาสเล่าว่าจุดเริ่มต้นคือเขาซึ่งมีบทบาทเป็นนักวิจัยพัฒนาวัสดุของสถาบันนวัตกรรม ปตท. ได้มีโอกาสเยี่ยมชมโรงคั่วกาแฟ Amazon ซึ่งมีเยื่อกาแฟเหลือใช้และได้รับโจทย์สำหรับงานวิจัยในห้องแล็บของสถาบันนวัตกรรม ปตท. ว่าจะสร้างมูลค่าใหม่จากเยื่อกาแฟได้ยังไง
ส่วนนัทผู้เป็นเจ้าของแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ ‘ฮูก’ (HOOG) ก็มีโรงงานและต้นทุนที่พร้อมอยู่แล้วในการทำเฟอร์นิเจอร์ทั้งด้านการผลิตและกลยุทธ์การตลาดเพื่อเข้าถึงลูกค้า เมื่อทีมวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยพัฒนาวัสดุและเจ้าของโรงงานผู้ผลิตได้เจอกันจึงเริ่มลองผิดลองถูกร่วมกันในการพัฒนานวัตกรรมและปรับคุณสมบัติของวัสดุให้มีคุณภาพเหมาะสมกับการนำมาพัฒนาเป็นเฟอร์นิเจอร์ โดยตั้งต้นจากเยื่อกาแฟเป็นวัสดุแรกในการวิจัย
กระบวนการพัฒนาคือการนำพลาสติกรีไซเคิลมาผสมกับวัสดุต่างๆ แล้วนำมาขึ้นรูป ออกมาเป็นวัสดุทางเลือกในชื่อใหม่อย่าง PlassCoff (coffee + plastic), sawdust (sawdust + plastic), bottle cap เป็นต้น ซึ่งบาสเล่าว่าวัสดุเหล่านี้เกิดจากการต่อยอดพัฒนาองค์ความรู้ไปเรื่อยๆ
“พอมานั่งคุยกัน เราก็รู้สึกว่า เยื่อกาแฟเป็นเพียง waste ตัวหนึ่งจากธุรกิจหนึ่ง พอเราทำแล็บไปเรื่อยๆ เราก็รู้สึกว่าที่จริงแล้ว เรามี know-how ของคนไทย ที่ไม่ได้พึ่งพิงคนต่างประเทศแม้แต่นิดเดียวและยังใช้ waste ของคนไทย แล้วปัญหาขยะก็เริ่มมีมากขึ้นทุกวัน ก็เลยเอากระบวนการตรงนี้มาขยายผลต่อ และเอาวัสดุอื่นๆ มาลองทำ”
ในฐานะดีไซเนอร์ เน็ทบอกว่า MORE โฟกัสที่การชูวัสดุเป็นหลักและใช้คอนเซปต์ที่เรียกว่า replace หรือสร้างวัสดุทดแทนที่เลียนแบบให้คล้ายวัสดุจริงที่สุด
“สมมติวัสดุที่ดูเหมือนไม้ เราก็จะพยายามทำ waste นั้นให้ดูเหมือนไม้ คือถ้าสังเกตสินค้าของเราจะไม่ได้ดูปุ๊บแล้วรู้ทันทีว่าทำมาจาก waste เราจะออกแบบให้แสดงความโดดเด่นและเอกลักษณ์ของวัสดุที่มาจาก waste โดยตรงทั้งจากสีสันและพื้นผิว และพยายามออกแบบให้เรียบง่ายเพื่อช่วยลดการสูญเสียทรัพยากร กล่าวคือลดความซับซ้อนลง ทำให้โครงสร้างเรียบง่ายเพื่อเป็นการลดการเกิด waste ให้ได้มากที่สุดด้วย”
โครงสร้างในการออกแบบที่เรียบง่ายที่เน็ตหมายถึง เช่น การสามารถถอดแยกชิ้นส่วนได้เพื่อให้ซ่อมแซมได้ง่ายในส่วนที่เชื่อมต่อกันระหว่างไม้กับพลาสติกรีไซเคิล ขาเหล็กที่สามารถแยกกับพื้นนั่งได้ซึ่งทำให้ง่ายต่อการนำกลับมารีไซเคิลด้วย เป็นต้น
นอกจากนี้วัสดุทางเลือกใหม่ที่ MORE คิดค้นนั้นยังมีตัวเลือกหลากหลายทั้งแบบที่มีความพร้อมในการผลิตเชิงแมส ที่มีการเก็บรวบรวมวัสดุ สต็อกวัตถุดิบ และพัฒนากระบวนการผลิตที่นิ่งหมดแล้ว และยังมีวัสดุอีกแบบคือหมวด customize ซึ่งเป็นสนามเด็กเล่นของทีมที่ทดลองวัสดุใหม่อย่างต่อเนื่อง ทำให้นอกจากสินค้าของ MORE ที่เห็นในวันนี้ ในอนาคตอาจมีสินค้าจากวัสดุทางเลือกใหม่และสินค้าชิ้นใหม่ที่เกิดขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์อย่างไม่จำกัด
ในมุมธุรกิจ นัทอธิบายว่า “เราอยู่ในโพซิชั่นพรีเมียมแมส การตั้งราคาของเราจะสูงกว่าพวกเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นไม้ยางพาราประมาณ 20% และใช้หลักการ cost-based (อิงจากราคาต้นทุน) ในการตั้งราคา”
โดย MORE ยังยึดหลักสวยและราคาเข้าถึงได้เพราะอยากให้ลูกค้าสามารถช่วยรักษ์โลกด้วยการซื้อของจาก waste ที่ใช้ได้จริง ใช้ได้นาน และใช้ได้เยอะ ไม่ใช่ซื้อใหม่แล้วทิ้งจนกลายเป็นการสร้างขยะชิ้นใหม่
ความท้าทายของทีม MORE คือการสื่อสารให้ลูกค้ารับรู้ว่าเบื้องหลังการผลิตสินค้ารักษ์โลกนั้นมีต้นทุนที่สูงกว่าสินค้าจากวัสดุทั่วไป บาสเล่าว่าเป้าหมายของทีมคืออยากลบภาพจำว่าของใช้ที่แปรรูปจากขยะเหล่านี้มักมีราคาถูก
“คนจะลืมคิดไปว่า ถึงแม้เราจะเอาวัตถุดิบที่เรียกว่าขยะมาทำ แต่วันนี้เราขายของที่ไม่ใช่ขยะนะ เราไม่ได้ขายเก้าอี้ที่ดูแล้วเป็นขยะ แต่ขายเก้าอี้ที่ดูเป็นเก้าอี้เหมือนปกติที่คุณใช้ เพราะฉะนั้นต้นทุนมันก็เลยจะสูง เราพยายามทำให้สินค้าดีที่สุด มีคุณภาพ ทำให้ทุกคนรู้สึกว้าวว่ามันมาจาก waste จริงเหรอ ถ้าผมไม่บอก คุณรู้ไหมว่ามันมาจาก waste ภาพของมันจะไม่ได้ต่างจากเก้าอี้ไม้ที่คุณเคยซื้อ เราพยายามจะทำลายความเชื่อว่าสินค้าจาก waste ไม่สะอาด ไม่ปลอดภัย ดูไม่ดี ดูราคาถูก”
ทั้งนี้บาสเสริมว่าโมเดลธุรกิจของ MORE ไม่ใช่แค่การเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเท่านั้น แต่เป็นการนำองค์ความรู้ทั้งหมดมาเพิ่มมูลค่าให้วัสดุในหลายรูปแบบ “เราไม่ได้บอกว่า MORE ขายเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ มันเป็นแค่สินค้าหมวดแรกๆ ที่เราอยากจะผลักดันด้วยความพร้อมของทีมพวกเราเอง ความจริงแล้วเราอยากจะบอกว่า MORE ขายทุกอย่างที่ใช้วัสดุจาก waste โมเดลของเราจึงไม่ใช่คนรับซื้อ waste แต่ชวนคนที่สนใจเปลี่ยน waste เป็นสินค้ามาคุยกัน พัฒนาวัสดุจากขยะของคุณแล้วคุณต้องรับซื้อสินค้านี้กลับไป ต้องพยายามที่จะพัฒนาและขายสินค้าที่ทำมาจาก waste ของคุณเอง ถ้าคุณอยากจะลด waste ของคุณ”
“เราพยายามจะนำเสนอลูกค้าให้เอา waste มาคุยกับเราและต้องรับผิดชอบในการซื้อผลิตภัณฑ์กลับไปแบบนี้ เพราะไม่งั้นมันกลายเป็นว่าทุกคนที่มี waste จะเอามาขายกับ MORE แล้วเราจะไม่ต่างอะไรกับร้านรับซื้อของเก่า waste ก็จะแค่ย้ายมากองที่เรา แต่เราก็จะไม่ได้ลดขยะให้กับใคร เจ้าของ waste ก็จะมองง่ายว่าสามารถใช้เงินให้จบไปแต่ไม่ได้รับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองสร้างขึ้นมา เขาก็จะไม่ตระหนักเรื่องของสิ่งแวดล้อมอะไรเลย แต่วันนี้เราจะเปลี่ยน waste ให้มันเป็นความภูมิใจของบริษัทเขาเอง นั่นคือความตั้งใจของเรา”
ในการสร้างแบรนด์และการตลาด MORE ใช้คุณภาพของสินค้าเป็นตัวนำเพื่อดึงดูดความสนใจของลูกค้า เมื่อคาแร็กเตอร์ของแบรนด์แข็งแรงก็ทำให้สื่อสารความตั้งใจถึงลูกค้าได้ชัดเจน
“แบรนด์คาแร็กเตอร์ของเรามี 3 เสาหลัก คือเรื่องของ sustainability เพราะ waste คือทรัพยากรที่มีคุณค่าซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นแกนหลักของเรา แกนที่ 2 คือ innovation ที่ ณ วันนี้เรามีทีมทำวิจัยและพัฒนาวัสดุที่นำเทคโนโลยีมาใช้กับ waste เพื่อช่วยในการนำวัสดุกลับมา อย่างที่ 3 creativity คือการใช้ความคิดสร้างสรรค์ของดีไซเนอร์เพื่อที่จะเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ผ่านเทคโนโลยีและ resource ที่มาจาก waste ให้ถึงผู้บริโภค”
บาสมองว่าทั้ง 3 สิ่งเป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการเล่าตัวตนแบรนด์ว่า MORE มีเส้นทางการเดินทางเป็นวงกลมคือมีที่มาจากคนทิ้งขยะและผ่านกระบวนการที่ทำให้วัสดุเหลือใช้กลับไปถึงคนทิ้งขยะเหล่านั้นอีกครั้ง โดยนิทรรศการเปิดตัวที่เล่าคอนเซปต์เหล่านี้ของ MORE จัดขึ้นครั้งแรกที่ Bangkok Design Week ซึ่งชวนดีไซเนอร์ 8 ทีม มาต่อยอดไอเดียเปลี่ยน waste เป็นวัสดุ เพื่อแสดงให้เห็นว่าวัสดุเหล่านี้มีมูลค่าและคุณค่ามากกว่าที่ทุกคนคิด
ความพิเศษคือในกระบวนการคัดเลือก waste 8 อย่างเพื่อนำมาพัฒนาเป็นงานออกแบบนั้น มีการตั้งโจทย์จากปัญหาจริงที่ทำให้เกิดขยะในประเทศ นอกจากเยื่อกาแฟที่นำมาพัฒนาเพราะมี know-how อยู่แล้ว บาสบอกว่าเกณฑ์ในการเลือกวัสดุมีที่มาจากปัญหาที่พบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน
“อย่าง PM2.5 เป็นเรื่องที่ทุกคนคำนึงถึง มีการรณรงค์ให้ทุกคนเลิกเผา แต่แล้วรัฐบาลมีทางออกให้กับเกษตรกรแล้วหรือยัง เราก็มาคิดต่อว่าอย่างใบอ้อย ถ้าเกษตรกรไม่เผา น่าสนใจไหมที่จะเอามาพัฒนาเป็นวัสดุ” นอกจากนี้ยังมีวัสดุตั้งต้นที่เป็นสิ่งเหลือทิ้งปริมาณมากจากการผลิตแบบแมสจากอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างฝุ่นไม้จากโรงงานไม้ ฝุ่นผ้าจากโรงงานผ้า อลูมิเนียมฟอยล์จากกล่องนม ฝาขวดที่ผู้คนยังไม่นิยมนำไปรีไซเคิล ไปจนถึงวัสดุเหลือทิ้งในครัวเรือนอย่างเปลือกไข่
“พอดีไซเนอร์เขาเห็นวัสดุเรา มันก็เป็นของเล่นใหม่สำหรับเขาในการที่จะไปทำงานต่อ บางทีเขาก็แนะนำดีไซเนอร์ด้วยกันให้เข้ามาคุยกับเรา พอเราเปิดตัวปุ๊บ คนก็เริ่มเดินเข้ามา แล้วก็เริ่มเกิด node ของคนที่เริ่มรู้จักเราแล้ว”
นอกจากสามารถเดินดูเฟอร์นิเจอร์และเข้ามาปรึกษาได้ที่โชว์รูมของ MORE ที่สุขุมวิทแล้ว นัทบอกว่า สามารถพบ MORE ได้ตามนิทรรศการและงานแฟร์ด้านดีไซน์ชื่อดังต่างๆ ที่หมุนเวียนไปจัดแสดง ที่ผ่านมา MORE เป็นแบรนด์แรกๆ ที่เล่าเรื่องนวัตกรรมวัสดุอย่างจริงจังทั้งในงานบ้านและสวนแฟร์, SX Sustainable Expo, FIND – Design Fair Asia, Maison&objet ฯลฯ
“ถ้าเป็นคนทั่วไปก็มักจะติดตามแบรนด์ได้ในแพลตฟอร์ม อิสตาแกรม เฟซบุ๊กของเรา ส่วนลูกค้าจะรู้จักจากทาง direct sales ที่เราวิ่งเข้าไปหาบ้าง” ซึ่งนัทมองว่าการติดต่อเข้าหาลูกค้า B2B สำหรับ MORE เป็นเรื่องไม่ยากเพราะตลาดมีความต้องการอยู่แล้ว อย่างคาเฟ่ Amazon ที่ต้องซื้อโต๊ะเก้าอี้อยู่แล้ว ก็เปลี่ยนจากซื้อเฟอร์นิเจอร์ทั่วไปมาเป็นสินค้าเดิมจากเยื่อกาแฟของตัวเองที่ทำให้ธุรกิจได้รับผิดชอบในกระบวนการผลิตของตัวเองด้วย
นอกจากคาเฟ่ Amazon แล้วก็ยังมีคาเฟ่อื่นๆ อีกมากมายที่อยากรับผิดชอบต่อวัสดุเหลือทิ้งของตัวเองแล้วนำมาเปลี่ยนเป็นเฟอร์นิเจอร์อย่าง Boncafé Thailand, Roots, Sizzler, Siwilai ที่ตั้งใจเก็บขวดเหลือมาเปลี่ยนทำเป็นวัสดุและของใช้สำหรับ Siwilai radical club
“ในมุมของแบรนด์ สิ่งที่เราอยากสื่อสารกับคนทั่วไปคือเราอยากให้ทุกคนลด waste เราไม่ได้บอกว่าเราต้องการจะมีความท้าทายที่เยอะมหาศาลขนาดนี้ ให้ทุกคนช่วยกันก่อนในการลด waste แล้วหลังจากนั้นจะเป็นหน้าที่ของเราที่จะเข้าไปช่วยพวกคุณอีกทีหนึ่งในการเอา waste ที่ลดแล้วไปพัฒนาต่อ” บาสสรุปความตั้งใจที่ไม่อยากเป็นทีมเดียวที่รักษ์โลก แต่อยากสร้างคอมมิวนิตี้ของสังคมที่ทุกคนช่วยกันในการบริหารจัดการทรัพยากรที่ล้นหลาม
สำหรับบาส ‘preservation’ หรือการรักษาไว้ให้ได้คือสิ่งสำคัญในการทำ MORE ที่อยากให้การทำธุรกิจมีความสมดุลตรงกลางระหว่างการอนุรักษ์กับธุรกิจ
“ทีมเรามานั่งตกผลึกด้วยกันว่า ถ้าเราอยากจะทำสิ่งนี้ไปนานๆ มันควรจะทำให้เป็นธุรกิจ เพราะถ้าเรารักสิ่งแวดล้อมแต่สุดท้ายบริษัทมีเงินทุนไม่พอ ก็จะต้องตัดเรื่องสิ่งแวดล้อมออกไป มันเลยเป็นที่มาว่ามาตั้งแบรนด์และทำแบรนดิ้งกัน
“ในมุมธุรกิจ เราก็ต้องเลี้ยงตัวเอง ถ้าเกิดเราอยากทำเรื่องนี้แล้วเลี้ยงตัวเองไม่ได้ เราจะไม่มีทรัพยากรในการทำต่อ ณ วันนี้เราเลยจำเป็นต้องเข้ามาทำตรงนี้ ด้วยความที่คิดถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อมก่อนและอยากจะเปลี่ยนให้เป็นธุรกิจ แต่สำหรับคนที่มีธุรกิจอยู่แล้ว ที่มุ่งหวังผลกำไรเราก็อยากให้เขามีมุมนี้บ้าง นิดๆ หน่อยๆ ก็ยังดี เราอยากให้ธุรกิจในโลกใหม่ๆ คิดถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อมด้วย ไม่ใช่คิดถึงผลประโยชน์อย่างเดียว”
บาสเล่าอินไซต์ว่าเวลาคุยกับ waste owner หรือบริษัทผู้มีวัสดุเหลือใช้ก็พบว่าบางบริษัทยังมองเรื่องรักษ์โลกเป็นเพียงกิมมิกหรือทำเพราะอยากอินเทรนด์เท่านั้น ซึ่งการไม่พร้อมลงแรงและลงใจอย่างจริงจังเป็นอุปสรรคที่ทำให้ทำงานร่วมกันยาก
“เราอยากจะให้คำว่า preservation เป็นอีกคำหนึ่งที่ ณ วันนี้ เราเชื่อเราทำแบบนี้ แต่เราคาดหวังว่าวันหนึ่ง เราอาจจะมีแรงโอเปอเรตและส่งต่อไปถึงบริษัทอื่นๆ ที่คิดถึงคำนี้ด้วยเหมือนกัน เลยเลือกคำนี้มา” ความฝันของทีมคืออยากขยายต่อความตั้งใจไปเรื่อยๆ และปั้นให้ MORE เป็นแพลตฟอร์มของคอมมิวนิตี้ที่ธุรกิจต่างๆ ช่วยกันรักษาทรัพยากรของโลกใบนี้ควบคู่กับการทำธุรกิจไปด้วยกัน
ที่มา : https://capitalread.co/more/