หนุ่มวิศวกรกับไอเดียแพลตฟอร์มรีไซเคิลขยะที่ไม่เหมือนใคร

6 สิงหาคม 2567

เปรม พฤกษ์ทยานนท์ ทายาทเจ้าของธุรกิจรับซื้อของเก่า วิศวกรที่เปิดเพจ “ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป” ซึ่งปัจจุบันมีผู้ติดตามกว่า 2.5 แสนคน

เปรม พฤกษ์ทยานนท์ ทายาทเจ้าของธุรกิจรับซื้อของเก่าที่เชียงใหม่ เปิดเพจนี้เมื่อ 5 ปีก่อน ไม่ใช่คนแก่นะ แต่เป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์หนุ่มใหม่ไฟแรงที่ต้องมาสานต่อธุรกิจครอบครัว และกำลังมุ่งมั่นเรื่องรีไซเคิลขยะอย่างจริงจัง จนกลายเป็นสตาร์ทอัพดาวรุ่งที่ได้รับการยอมรับในอันดับต้นๆ ของเวทีการประกวดระดับเอเชียแปซิฟิก

เพจลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป

ล่าสุด เราได้มีโอกาสฟังเปรมพูดในงานเสวนา "ก้าวสู่ Net Zero ประเทศไทยไร้มลพิษพลาสติก" ที่จัดโดยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เมื่อเร็วๆ นี้ เขาเล่าว่า ตอนแรกๆ ที่ทำเพจ ก็คิดแค่ว่าใช้เวลาว่างในแต่ละวันมาเขียนคอนเทนต์ชวนคนมารักโลกและรับผิดชอบขยะด้วยวิธีง่ายๆ ไม่ซับซ้อน เข้าถึงผู้คนทุกกลุ่มทุกวัย แต่อยู่มาวันหนึ่ง มีแฟนเพจส่งรูปมาให้ดูว่าแยกขยะตามที่แนะนำแล้วกองไว้เต็มไปหมด พร้อมกับถามว่า แยกแล้วจะให้ทำยังไงต่อ ทำให้เขาอึ้งแล้วฉุกคิดได้ว่า เออ เขาให้ความรู้คน แต่ไม่ได้ให้เครื่องมือว่าแยกแล้วจะนำขยะไปยังปลายทางได้อย่างไร สิ่งที่มันขาดไปก็คือ circular economy มันต้องมีผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนเข้ามาอยู่ในระบบเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน ไม่ใช่หน้าที่ของคนเก็บขยะ หรือคนแยกขยะที่จะมาทำ เขาก็เลยเกิดไอเดียว่า จะต้องมีแพลตฟอร์มที่รวมเอา stakeholders มาอยู่ด้วยกัน 

เปรมจึงได้สร้างแอปพลิเคชั่น Green2Get ขึ้นมาเมื่อปี 2565 เพื่อเป็นแพลตฟอร์มเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่สามารถเชื่อมโยงผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้รีไซเคิลขยะ  

   "ไอเดียการทำแพลตฟอร์มรีไซเคิลขยะของ Green2Get จะไม่เหมือนใคร ต้องยอมรับว่าผมค่อนข้างคิดใหญ่ไปหน่อย เพราะไม่เกี่ยงว่าเป็นใครที่จะเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์ม ไม่เกี่ยงว่าจะเป็นวัสดุอะไร จะมีตั้งแต่ของที่มีราคาสูง เช่น ทองแดง ไปจนถึงของที่ไม่มีราคา ก็สามารถเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มนี้ได้ คือเป็นตัวกลางเชื่อมโยงผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งห่วงโซ่อุปทาน"

หา pain points ของแต่ละกลุ่ม

 

เริ่มแรก Green2Get จะเน้นไปที่ผู้บริโภคก่อน โดยตอบโจทย์ว่า แยกขยะเป็นเรื่องง่าย เพียงแค่สแกนบาร์โค้ดสินค้า เก็บ แยก จากคู่มือการแยกขยะชนิดต่างๆ แล้วนำไปทิ้ง หรือส่งต่อผู้รับซื้อที่อยู่ใกล้ตัวคุณทั่วประเทศ เปรมบอกว่า มันไม่ใช่แค่เครื่องมือให้ผู้บริโภครวบรวม-ส่งต่อ วัสดุรีไซเคิล เท่านั้น แต่ยังช่วยกันเพิ่มฐานข้อมูลการคัดแยกขยะได้ด้วย จากเดิมที่ซาเล้งและร้านรับของเก่าส่วนใหญ่จะบันทึกการซื้อขายด้วยลายมือและไม่น่าเชื่อถือ

แม้จะมีข้อมูลให้ผู้บริโภคค้นหาจุดทิ้งขยะใกล้ตัว แต่ผู้บริโภคจำนวนมากก็คิดว่า เอาไปทิ้งตามจุดรับแล้วพวกเค้าได้อะไร เปรม ตั้งคำถามว่า ผู้ผลิตสินค้าควรต้องเข้ามารับผิดชอบในการสร้างแรงจูงใจแก่ผู้บริโภคไหม การหาสปอนเซอร์ให้รางวัลกับผู้ทิ้งขยะยังเป็นเรื่องยาก  แต่ถ้าไทยมีกฎระเบียบตามหลักการขยายความรับชอบของผู้ผลิตให้ครอบคลุมวงจรชีวิตของบรรจุภัณฑ์ หรือ EPR (Extended Producer Responsibility) จะมีส่วนในการส่งเสริมเรื่องนี้ได้มาก เพราผู้ผลิตจะถูกกำหนดให้มีการผลักดันในเรื่องการแก้ปัญหาขยะ

ด้านผู้รับรีไซเคิล ก็มีปัญหาซื้อเข้ายาก ขายไม่ได้ราคา ของกองเต็มร้าน เปรมก็เลยทำแอปฯ ฮีโร่รีไซเคิล เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางการซื้อขายวัสดุรีไซเคิลออนไลน์ของประเทศ คล้ายๆ กับแอปไรเดอร์ส่งอาหาร โดยให้ซาเล้ง ร้านค้าของเก่า สมัครเข้ามา ส่วนประชาชน ห้างร้านที่ต้องการขายอะไรก็ตามหรือที่ต้องการหาผู้รับซื้อใกล้ตัว พอเสนอขายเข้ามาในระบบ ข้อมูลนั้นจะเด้งขึ้นมาหน้าจอ ถ้าผู้รับซื้อไม่ต้องการซื้อก็บอกว่าไม่ซื้อเพราะอะไร เช่น ของมันน้อยไป หรือสกปรกไป ถ้าต้องการซื้อก็แจ้งราคา แอปนี้จึงเป็นการจับคู่ผู้ซื้อกับผู้ขาย สามารถอัพเดทราคาซื้อขายได้ง่ายและปลอดภัย 

เปรมเล่าว่า เมื่อมีร้านค้าของเก่าเข้ามาจำนวนมากแล้ว เขาก็ต่อยอดโดยจับคู่กับโรงงานรีไซเคิล และรถขนส่งวัสดุรีไซเคิล ให้สามารถติดต่อซื้อขายวัสดุรีไซเคิลได้โดยตรง เขาพยายามไปติดต่อเจรจากับโรงงานรีไซเคิลสำหรับวัสดุชนิดต่างๆ ง่ายบ้าง ยากบ้าง บางแห่งกำหนดสเปกของเก่าไว้สูงมาก 

ทีนี้มาถึงส่วนผู้ผลิต ก็สามารถใช้แพลตฟอร์มนี้สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรได้ โดยบอกลูกค้าว่าสินค้าของคุณได้จัดการขยะที่เกิดขึ้นได้อย่างไร สินค้าของคุณช่วยโลกได้อย่างไร หรือมาร่วมสร้างกิจกรรมจูงใจผู้คนรีไซเคิลขยะ ไม่ว่าจะเป็นการแจกรางวัล หรือสะสมคะแนน 

 

นอกจากนี้ ยังช่วยให้ผู้ผลิตเก็บคืนบรรจุภัณฑ์ได้อย่างง่ายดาย เพื่อนำไปจัดการได้อย่างถูกต้อง อีกทั้งเป็นเครื่องมือให้ผู้ผลิตสามารถติดตามการลดคาร์บอนจากกิจกรรมที่ตนเองสร้างขึ้น แม้จะเป็นโมเดลที่ทำยากเพราะซับพลายเชนของเก่ามันยากมาก แต่เปรมก็ยังเดินหน้าที่จะให้ Green2Get เป็นเครื่องมือจับคู่ให้ได้ตลอดทั้งซับพลายเชน

Green2Get แอปพลิเคชั่นที่ช่วยให้การจัดการขยะเป็นเรื่องง่าย

ซื้อง่ายขายสะดวก

ปีนี้ เปรม เปิดแอปซื้อขายหน้าร้านที่มีชื่อว่า หน้าร้านฮีโร่ สำหรับสมาชิกฮีโร่รีไซเคิล ให้ใช้งานแบบฟรีๆ โดยมาพร้อมกับฟังก์ชั่นการเชื่อมต่ออุปกรณ์ไร้สาย ทั้งกล้องวงจรปิด หัวเครื่องชั่ง และปรินต์เตอร์ รวมถึงเก็บประวัติและข้อมูลร้านผ่านระบบ Cloud ทำให้ข้อมูลไม่หาย ดูได้ทุกที่ทุกเวลา

เปรมบอกว่า เขาต้องการทำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนให้สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ (Tracking System) โดยขณะนี้มีร้านค้าของเก่าเข้าร่วมแล้ว 25 ราย ต่อไปจะจับคู่กับผู้ผลิต ถ้าใครต้องการสนับสนุนให้เกิดการรีไซเคิลและอยากรู้ว่ามีการซื้อขายจริงหรือไม่ ก็สามารถ track มาที่ประชาชนผ่านร้านของเก่าได้ และยังสามารถมาร่วมส่งเสริมได้หลายวิธี เช่น ให้รางวัลคนทำรีไซเคิล หรือมาโฆษณาผลิตภัณฑ์รักษ์โลกในแอปนี้ได้ 

สิ่งที่ Green2Get อาจไม่เหมือนคนอื่น และเขายังอยากรักษา stakeholders เดิมเอาไว้ เปรมบอกว่า ไทยมีระบบธุรกิจรีไซเคิลที่แข็งแกร่งมากกว่าประเทศพัฒนาแล้วด้วยซ้ำ มีซาเล้งตระเวนเก็บขยะในทุกชุมชนทั่วประเทศ เขาจึงอยากส่งเสริมให้ทุกคนเข้ามาเชื่อมโยงกัน ให้ผู้ผลิตมีส่วนร่วมเพราะเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดขยะ ก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบ และเขาไม่มีข้อจำกัดว่าจะเป็นวัสดุอะไร แม้ว่าวันนี้จะยังไม่มีปลายทางรับซื้อ แต่ต้องหาที่ทางให้มันจนได้

ที่มา : https://happeningbkk.com/post/10759

ความคิดเห็นของคุณ
*
*