ผู้ประกอบการต้องเตรียมพร้อมรับมืออย่างไร? เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก

7 กรกฎาคม 2567

ผู้ประกอบการต้องเตรียมพร้อมรับมืออย่างไร? เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายลด ก๊าซเรือนกระจก ให้เป็นศูนย์   Part 2

ทความที่แล้ว เราได้พาไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.ลดโลกร้อน กันแล้วว่า ทำไม? ถึงต้องมี พ.ร.บ. ฉบับนี้ แล้วมีความสำคัญต่อผู้ประกอบธุรกิจ สิ่งแวดล้อม และโลกนี้อย่างไร? ครั้งนี้ เราจะมาดูวิธีรับมือกับวิกฤตโลกร้อน และการเตรียมความพร้อม เพื่อปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ลดโลกร้อน ต้องทำอย่างไรบ้าง? แล้ว ผู้ประกอบการ SME จะได้ประโยชน์อะไร? จาก พ.ร.บ. ฉบับนี้ ไปดูกันเลยครับ
 
 
วิกฤตโลกร้อน สร้างความเสี่ยงต่อภาคธุรกิจอย่างไร?
ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่าน (Transition) สู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ที่กระทบต่อภาคธุรกิจของไทยไม่น้อยเลย เริ่มจากความเสี่ยงด้านกฎระเบียบที่กระทบภาคส่งออกของไทย นั่นคือมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (Carbon Border Adjustment Mechanism) คือการเก็บภาษีคาร์บอนสินค้านำเข้าในบางอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นมาตรการที่จะช่วยให้สหภาพยุโรปสามารถก้าวสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจนเป็นศูนย์ได้ ขณะเดียวกันก็เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมต่อกลุ่มอุตสาหกรรมในสหภาพยุโรปจากค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อมที่สูงกว่า สามารถแข่งขันได้ โดยกฎเกณฑ์ดังกล่าวนี้ อาจมีขอบเขตครอบคลุมและเข้มงวดมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต
 
ส่วนในประเทศไทย ก็มีความเคลื่อนไหวสำคัญ คือการรับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือกฎหมายโลกร้อนฉบับล่าสุด มีการระบุเรื่องการจัดทำบัญชีคาร์บอน ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Emission Trading System) และการจัดเก็บภาษีคาร์บอน ซึ่งหากมีการบังคับใช้จริง ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคเอกชนเกือบทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนสูง
 
หากรัฐบาลไทยเลือกเดินหน้าตามแผนเดิมที่กำหนดว่าจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเท่ากับศูนย์ในปี 2065 ซึ่งนับว่าล่าช้ากว่าประเทศต่าง ๆ สุดท้ายเศรษฐกิจไทยจะเสียความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากต้นทุนพลังงานที่สูงกว่าต่างประเทศที่หันไปใช้พลังงานหมุนเวียน อีกทั้งยังปล่อยคาร์บอนสูงจนเสี่ยงจะเผชิญมาตรการทางภาษีในต่างประเทศ รวมทั้งไม่สอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัทระดับโลกหลายแห่ง อาทิ ไมโครซอฟต์ (Microsoft), กูเกิล (Google) และแอปเปิล (Apple) ที่ต่างตั้งเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเท่ากับศูนย์ภายในปี 2030
 
ความเสี่ยงที่สำคัญไม่แพ้กัน คือพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เนื่องจากภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ประชาชนเริ่มตระหนัก และใส่ใจวิกฤตโลกร้อนมากขึ้น จึงพร้อมปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคเลือกผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ปล่อยคาร์บอนต่ำนั่นเอง
 
วิกฤตโลกร้อน จึงเป็นความเสี่ยงต่อภาคธุรกิจ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงไม่ใช่เรื่องของความสมัครใจ ที่ใครจะทำหรือไม่ทำก็ได้ อีกต่อไป เพราะความเสี่ยงที่กล่าวมาทั้งหมด อาจเป็นเงื่อนไขสำคัญที่เป็นตัวกำหนดอนาคตของธุรกิจเรา ว่าจะล้มหายไป หรืออยู่รอดต่อไปก็ว่าได้
 
 
การรายงานการลดก๊าซเรือนกระจก จะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ ที่ธุรกิจต้องดำเนินการ
ดังนั้น การปรับเปลี่ยนการดำเนินงานและการปรับใช้หลักเกณฑ์ใหม่ ๆ ที่มีความเข้มข้น ย่อมส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ ระบบภาษีคาร์บอน ซึ่งให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีหน้าที่เสียภาษีคาร์บอนแบบอัตราก้าวหน้าแก่กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร และกรมสรรพากร รวมถึงกิจการบางประเภทอย่างผู้ประกอบการพลังงานและผู้ประกอบกิจการโรงงาน ที่ พ.ร.บ. กำหนดให้ต้องรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เพื่อจัดตั้งฐานข้อมูลก๊าซเรือนกระจกของประเทศ
 
จากผลกระทบดังกล่าว ทำให้รัฐบาลเข้ามามีส่วนดูแลกับมาตรการลดก๊าซเรือนกระจก (GHG) ของธุรกิจอย่างจริงจังมากขึ้น กลายเป็นมาตรฐานใหม่ที่ภาคเอกชนจะต้องทำตาม ทำให้มีหลายข้อที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมรับมือไว้ก่อนดีกว่า แม้คาดว่าร่างพ.ร.บ. Climate Change จะต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งเพื่อพิจารณาในรายละเอียดก็ตาม
 
โดยธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อาจถูกขอข้อมูลการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรและผลิตภัณฑ์ที่จะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ แม้ว่าตอนนี้จะมีการรายงานแต่ก็เป็นแบบสมัครใจ แต่ในอนาคตการรายงานการตรวจวัด GHG อาจกลายเป็นข้อบังคับเหมือนการรายงานงบการเงินที่ต้องรายงานเป็นเรื่องปกติ
 
 
 
อุตสาหกรรม - กิจกรรม อะไรบ้าง? ที่ต้องรายงานการปล่อย ก๊าซเรือนกระจก 
 
การเปลี่ยนแปลงหลักที่จะเกิดขึ้น จากเดิมที่การตรวจวัด ก๊าซเรือนกระจก หรือ GHG จะเป็นไปตามความสมัครใจ และเผยแพร่ในรายงานประจำปีของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่ร่าง พ.ร.บ.ฯ นี้ จะให้หน่วยงานรัฐมีอำนาจขอข้อมูลการปล่อย GHG ของกิจกรรม 5 ประเภทที่ต้องรายงาน GHG ได้แก่
• การใช้เชื้อเพลิง
• การผลิต
• การเกษตร
• ป่าไม้และการใช้ประโยชน์จากที่ดิน
• การจัดการของเสีย
 
ในอุตสาหกรรมที่กำหนด 15 อุตสาหกรรม คือ 1.ผลิตไฟฟ้า 2.ก่อสร้าง 3.ขนส่ง 4.เหมืองถ่านหิน 5.น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ 6.อโลหะ 7.เคมี 8.โลหะ 9.ผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิง 10.อิเล็กทรอนิกส์ 11.การใช้สารทดแทนสารทำลายชั้นโอโซน 12.การผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า 13.กระดาษและเยื่อกระดาษ 14.อาหารและเครื่องดื่ม 15.เกษตรและปศุสัตว์
 
เพื่อใช้ในการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (CFO) เพื่อให้ได้ปริมาณ GHG จะต้องมีการจ้างที่ปรึกษาเพื่อวัดและรับรองปริมาณ GHG เป็นประจำทุกปี ๆ ละ 1 ครั้ง มีค่าใช้จ่ายประมาณ 30,000 บาท ขณะที่ประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์ (CFP) ประเมิน 2 ปี 1 ครั้ง โดยใช้ระยะเวลาประเมิน 2 วัน หากมีโครงสร้างธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์มีความซับซ้อนจะใช้ระยะเวลาประเมินมากขึ้น และมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ทั้งนี้ ภาครัฐอาจมีมาตรการสนับสนุนค่าใช้จ่ายโดยการให้เงินสนับสนุนหรือนำค่าใช้จ่ายไปลดหย่อนภาษีได้
 
 
ผู้ประกอบการ และ SME ควรเตรียมพร้อมรับมืออย่างไร?
 
รองอธิบดีกรมโลกร้อน ระบุว่า พ.ร.บ.ลดโลกร้อน ฉบับนี้ เป็นกฎหมายฉบับแรกของประเทศไทย ที่มีกรอบกว้างกว่า พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ฯ โดยเฉพาะเรื่องการเงิน โดยก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยเกินมา จะต้องชดเชยเป็นเงิน และนำไปสนับสนุน SME ในการปรับตัวเพื่อรับมือและเตรียมความพร้อมทำข้อมูลด้านคาร์บอนของตัวเอง
 
โดยรายละเอียดหลัก ๆ จะเน้นไปที่ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัว รวมไปถึงการพิจารณาถึงมาตรการทางการเงิน เพื่อนำเงินที่ได้จากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือเงินค่าปรับไปช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ให้สามารถจัดทำรายงานคาร์บอน และการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ ซึ่งในข้อดังกล่าว ยังคงมีรายละเอียดที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบอีกพอสมควร
 
อย่างที่พูดไปแล้วว่า แม้ตอนนี้จะมีการรายงานการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรและผลิตภัณฑ์จะเป็นแบบสมัครใจ แต่ในอนาคตการรายงานการตรวจวัด GHG อาจกลายเป็นข้อบังคับ ดังนั้น ผู้ประกอบการ SME ต้องเตรียมความพร้อมดังนี้
 
 
 
 
1. ทำการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรและผลิตภัณฑ์ จะเป็นมาตรฐานใหม่ของการดำเนินธุรกิจ ที่ต้องมีการรายงานเช่นเดียวกับงบการเงิน มีชื่อว่า IFRS S1 และ S2 จัดทำโดย International Sustainability Standards Board (ISSB) ไม่ใช่แค่ในไทยเท่านั้น แต่มาตรฐานนี้อาจถูกนำมาใช้ในหลายประเทศ ปัจจุบัน สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น แคนาดาและออสเตรเลียก็กำลังศึกษาแนวทางอยู่เช่นเดียวกัน ยิ่งทำให้มีน้ำหนักขึ้นไปอีกว่ากลุ่มธุรกิจอาจต้องมีหน้าที่รับผิดชอบเพิ่มมาอีกหนึ่งอย่าง นั่นก็คือรายงานการตรวจวัด GHG
 
 
2. การลด ก๊าซเรือนกระจก ในกระบวนการผลิต จะเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งแนวโน้มในอนาคตจะทำให้ต้นทุนการผลิตของผู้ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเพิ่มขึ้น และจะสูญเสียความสามารถในการแข่งกันต่อผู้ประกอบการที่ปล่อย GHG ต่ำกว่า ดังนั้นผู้ประกอบการควรปรับตัวเพื่อลด GHG ทั้งในกระบวนการผลิตและการดำเนินกิจการอื่น ๆ แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ
 
• ระยะสั้น อาจเริ่มด้วยการใช้คาร์บอนเครดิตที่มีมาตรฐานรับรอง เช่น T-VER (องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก) VCS (VERRA) Gold Standard หรือซื้อใบรองรองพลังงานหมุนเวียน (REC) เพื่อลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล
 
• ระยะยาว ผู้ประกอบการอาจต้องมีการลงทุนเผื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการใช้พลังงานหรือเทคโนโลยีเพื่อช่วยลด GHG ได้แก่
- เปลี่ยนเครื่องจักรที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมาใช้ไฟฟ้า
- เปลี่ยนการขนส่งเป็นรถยนต์ Hybrid หรือรถยนต์ไฟฟ้า
- ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทดแทนโดยการติดตั้ง Solar Roof หรือทำสัญญาซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดจากภาคเอกชน (Power Purchasing Agreement: PPA)
- ใช้วัสดุทดแทนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ อย่างวัสดุ Recycle วัสดุเหลือใช้ เป็นต้น
- เทคโนโลยีขั้นสูง Carbon Capture Utilization and Storage เชื้อเพลิงไฮโดรเจน
 
3. นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากขึ้นตลอดเวลา ผู้ประกอบการควรติดตามกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด เช่น นโยบาย EU-CBAM ที่จะมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบในปี 2026 และจะขยายประเภทสินค้ามากขึ้น หรือ มาตรการ US-CBAM ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภาที่อาจส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตในระยะยาว
 
อย่างไรก็ดี คาดว่าร่าง พ.ร.บ.ฯ จะต้องใช้ระยะเวลา 1 – 2 ปี เพื่อพิจารณาในรายละเอียด แต่ผู้ประกอบการควรรีบดำเนินการ โดยเริ่มจากการตรวจวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทั้งในระดับองค์กรและผลิตภัณฑ์เป็นอันดับแรก ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการรวบรวมข้อมูล โดยธุรกิจสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปแสดงในรายงานของกิจการหรือแสดงในฉลากผลิตภัณฑ์เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของกิจการได้
 
 
พ.ร.บ.ลดโลกร้อน จะส่งผลดีต่อ SME อย่างไร?
 
สำหรับ พ.ร.บ.ลดโลกร้อน จะส่งผลดีต่อธุรกิจ SME คือ ช่วยส่งเสริมการพัฒนามาตรการและกลไกคาร์บอนเครดิต เพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบยั่งยืนและคาร์บอนต่ำ 
 
ที่สำคัญ จุดมุ่งหมายของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ มีสาระสำคัญเน้นการลดการปล่อยก๊าซและการปรับตัว โดยเฉพาะเรื่องมาตรการทางการเงิน ซึ่งบทลงโทษว่าด้วยโทษปรับสำหรับผู้ที่ยังไม่ยอมเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐหรือบริษัทเอกชน จะนำค่าปรับที่ได้จากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ไปช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็ก หรือ SME ให้สามารถจัดทำรายงานคาร์บอนและดำเนินธุรกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมต่อไป ทำให้กฎหมายใหม่นี้เป็นที่จับตาจากภาคเอกชนที่ต้องปฏิบัติตาม
 
แม้ทั้งหมดนี้ จะดูเหมือนเป็นการ “บังคับ” ให้เกิดการปรับตัวครั้งใหญ่สำหรับองค์กรต่าง ๆ ในไทย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า พ.ร.บ. นี้เป็นการกำกับควบคุมที่จำเป็น เพื่อเร่งลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วยกลไกทางเศรษฐศาสตร์และมาตรการทางกฎหมายอย่างจริงจัง 
 
อย่างไรก็ดี ยังมีเวลาเตรียมตัวกันอีกพอสมควรก่อนที่จะบังคับใช้จริง โดยเริ่มใช้มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy) เป็นจุดอ้างอิงก่อน เพื่อให้พร้อมปฏิบัติตาม พ.ร.บ. นี้ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของไทยสู่เป้าหมาย Net Zero การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
 
วันนี้ ทุกคนกำลังเผชิญกับภาวะโลกเดือด ทำให้การลด ก๊าซเรือนกระจก กลายเป็นวาระเร่งด่วน นโยบายสิ่งแวดล้อมจะเข้มงวดมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงเป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญของธุรกิจคือการติดตามกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง
 
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ถือเป็นโจทย์สำคัญของภาคเอกชน กับภารกิจลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อบรรเทาวิกฤตโลกร้อน ที่นับแต่นี้ไปจะต้องเตรียมรับมือให้ดี กับความเปลี่ยนแปลงนโยบายสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น โดยรัฐบาลต้องความรับผิดชอบต่อข้อตกลงปารีส ขณะที่ภาคธุรกิจเองก็ต้องปรับตัว เพื่อจะยืนอยู่ให้ได้ท่ามกลางต้นทุนที่สูงขึ้น ต้องคอยติดตามดูกันไปว่า การดำเนินงานภาคธุรกิจ SME จะแตกต่างจากเดิมอย่างไร เมื่อไทยต้องบรรลุเป้าหมาย Net Zero ให้ได้ ภายในอีก 41 ปีข้างหน้านี้
 
อ้างอิง
 
 
ความคิดเห็นของคุณ
*
*