คิดเห็นแชร์ : ‘แยกขยะแล้วไปไหนต่อ?’ คำถามสำคัญที่ทุกท้องถิ่นจะต้องตอบให้ได้

4 สิงหาคม 2567

คิดเห็นแชร์ : ‘แยกขยะแล้วไปไหนต่อ?’
คำถามสำคัญที่ทุกท้องถิ่นจะต้องตอบให้ได้

เรื่องการบริหารจัดการขยะเป็นภารกิจสำคัญของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ไม่ว่าจะเป็นการจัดการ “ต้นน้ำ” หรือการส่งเสริมการลดและคัดแยกตั้งแต่แหล่งกำเนิด “กลางน้ำ” การเก็บและขนขยะจากที่อยู่อาศัยและสถานประกอบการต่างๆ และ “ปลายน้ำ” การนำขยะที่ได้จัดเก็บไปกำจัดอย่างถูกวิธี

แม้ทั้ง 3 ส่วนนั้นต่างมีความสำคัญอย่างมาก แต่ปัจจุบัน กทม.ปักหลักไปที่ “ต้นน้ำ” เนื่องจากเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า หรือ “ทำน้อย ได้เยอะ” เพราะถ้าเราสามารถส่งเสริมแต่ละแหล่งกำเนิดให้แยกขยะ และสามารถทำให้ขยะนั้นลดลง แปลว่าจะสามารถลดความถี่ของรถขยะที่จะต้องไปเก็บ และลดปริมาณขยะที่จะต้องนำไปกำจัด ซึ่งหนึ่งในวิธีนั้นคือการนำไปฝังกลบที่ก่อปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงลดงบประมาณการจัดการขยะของ กทม.ลงไปด้วย

แต่เรื่องการแยกขยะจะพบกับคำถามสำคัญ เช่น “แยกขยะแล้วไปไหนต่อ?” หรือ “แยกแล้ว กทม.เทรวมหรือไม่?” ซึ่งคำถามเหล่านี้สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่ยังขาดอยู่

การสร้างความเชื่อมั่นสำหรับประชาชนคือหัวใจของการทำให้การแยกขยะนั้นประสบความสำเร็จ โดยความตั้งใจของบทความนี้คือการสื่อสารว่าขยะที่ประชาชนแยกมาแล้วมีการจัดการต่ออย่างไร กทม.จัดระบบอะไรไว้บ้าง และสามารถจัดการอย่างถูกวิธีได้หรือไม่ โดยแบ่งขยะเป็น 2 ประเภทแบบง่ายๆ “ขยะเปียก” กับ “ขยะแห้ง”

การจัดระบบรองรับขยะเศษอาหารอย่างเป็นรูปธรรม

ที่เราพูดๆ กันว่า “ขยะเปียก” นั้นคือขยะอินทรีย์ หรือเศษอาหาร ซึ่งถ้าเทียบกับ “ขยะแห้ง” แล้ว “ขยะเปียก” มีความท้าทายกว่ามาก เนื่องจากมีความเหม็น ชื้น น้ำหนักที่มากกว่า และไม่ได้มีตลาดรับซื้อเหมือนกับพวกรีไซเคิล และการที่แยกขยะมาอย่างดีแต่มีการเทเศษอาหารลงไปก็ทำให้สิ่งที่สะอาด สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ กลายมาเป็นขยะที่ปนเปื้อน ไม่มีใครอยากรับ และในที่สุดก็ไปจบที่บ่อฝังกลบ

แต่เนื่องจาก “ขยะเปียก” มีสัดส่วนเกือบ 50% ของขยะทั้งหมดใน กทม. และเป็นอุปสรรคต่อระบบรีไซเคิลที่สมบูรณ์ ทำให้เราต้องเน้นประเด็นนี้เป็นอย่างมาก และปัจจุบันมี 5 แนวทางรองรับ

1.เกษตรกรมารับถึงที่

ที่จริงแล้วเศษอาหารเป็นของที่ต้องการของเกษตรกรเลี้ยงสัตว์เลี้ยงปลาอย่างมากมาก สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารให้กับเกษตรกร แถมช่วยกำจัดขยะให้เราด้วย และเกษตรกรเหล่านี้พร้อมวิ่งเข้ามารับจากจังหวัดรอบข้างเลยด้วยซ้ำ ซึ่งหน้าที่ของ กทม.คือการเชื่อมแหล่งกำเนิดกับเกษตรกรเข้าหากัน ถ้ามีตลาด ห้าง หรือโรงแรม พร้อมแยกแล้ว กทม.จะช่วยติดต่อเกษตรกรมารับให้ ส่วนใหญ่เกษตรกรจะรับพวกข้าวหมู หรืออาหารเหลือ แต่ปัจจุบันเริ่มมีรับเศษผักผลไม้มากขึ้นเช่นกัน

2.สำนักงานเขตจัดเก็บตามร้าน/ครัวเรือน ด้วยรถเฉพาะ และนำมารวบรวมให้เกษตรกรมารับ

ข้อจำกัดของการให้เกษตรกรมารับตรงคือแหล่งกำเนิดนั้นจะต้องมีปริมาณขยะเยอะ (ร้านเล็กๆ ที่มีขยะไม่มากก็ไม่คุ้มที่จะวิ่งไปรับ) ซึ่งสำหรับร้านเล็กๆ/ห้องแถว/ครัวเรือน จะมีโมเดลที่สำนักงานเขตใช้รถเฉพาะวิ่งเก็บเศษอาหารอย่างเดียวในพื้นที่ และเอาทั้งหมดไปรวมไว้ที่จุดพักแห่งหนึ่ง และกำหนดเวลาให้เกษตรกรมารับทีเดียว ฝรั่งจะเรียกว่าโมเดล “Milk run”

3.สำนักเขตจัดเก็บด้วยรถเฉพาะ และนำไปส่งโรงหมักปุ๋ยที่อ่อนนุช/หนองแขม

ถ้าแหล่งกำเนิดไหนมีผักหรือเปลือกผลไม้เยอะๆ (มากเกินกว่าที่เกษตรกรต้องการ) เช่นตลาดสด สามารถประสานให้สำนักงานเขตมารับไปส่งโรงหมักปุ๋ยของ กทม.ได้ ซึ่งปุ๋ยเหล่านี้จะนำไปใช้กับต้นไม้สาธารณะหรือหน่วยงานรัฐต่างๆ สามารถมาเบิกได้

4.เขตจัดเก็บด้วยรถเฉพาะ และนำไปส่งโรง BSF หนองแขม

โมเดลเดียวกันกับที่ไปส่งโรงหมักปุ๋ยคือเขตเข้าไปรับตามแหล่งกำเนิด แต่ที่ต่างคือปลายทางจะไปที่โรง BSF (Black Soldier Fly) หรือโรงกำจัดที่ใช้หนอนแมลงทหารดำ ที่สามารถกินเศษอาหารได้อย่างดี และตัวหนอนเองก็สามารถขายเป็นอาหารสัตว์ได้

ซึ่งวิธีนี้เป็นเทรนด์ใหม่ที่หลายๆ ประเทศได้เริ่มดำเนินการ ซึ่งปัจจุบัน กทม.มีศูนย์ที่สามารถกำจัดได้วันละ 3 ตัน และในอนาคต 10 ตันโดยใช้พื้นที่ไม่กี่ตารางเมตร นอกเหนือจากนั้นยังเป็นที่สำหรับดูงานได้ โดยเริ่มมีเอกชนหลายแห่งหรือสำนักงานเขต มาศึกษาและนำไปต่อยอดในพื้นที่ของตัวเองแล้ว

5.กำจัด ณ แหล่งกำเนิด

อีกแนวทางสำคัญคือการกำจัดเศษอาหารที่แหล่งกำเนิดเลย เช่น การมีเครื่องหมักอัตโนมัติ ที่เข้าใจว่าปัจจุบันค่าลงทุนลดลงเรื่อยๆ จากเมื่อก่อน ซึ่งเหมาะกับภาคเอกชนรายใหญ่ หรือการหมักแบบเทคนิคดั้งเดิม เช่น Green cone, ปุ๋ยคอก ต่างๆ ที่จะเหมาะกับภาคครัวเรือนหรือชุมชน หรือการทำก๊าซชีวภาพ

ยกระดับการแยก “ขยะแห้ง” เพิ่มมูลค่าและรายได้ให้ประชาชน

“ขยะแห้ง” สามารถแบ่งออกเป็น 2 หมวด นั่นคือ 1.รีไซเคิล (ขวดพลาสติก แก้ว กระดาษ กระป๋องอะลูมิเนียม) และ 2.กำพร้า (ถุงแกง ถุงขนมโดยเฉพาะแบบ multilayer หลอด อื่นๆ) ซึ่งปัจจุบันได้เตรียมระบบการจัดการอย่างถูกวิธี ประกอบด้วย

1.ภาคีมารับถึงบ้าน

หนึ่งใจอุปสรรคของการแยกขยะคือความสะดวกสบาย ถ้าแยกแล้วแต่ยังมีขั้นตอนเช่นต้องขับรถนำขยะไปส่งหรือขายต่อก็เป็นค่าใช้จ่ายทั้งเงินและเวลา ทำให้หลายคนเลือกที่จะไม่แยก ซึ่ง ณ วันนี้มีภาคีของ กทม. ที่พร้อมที่จะมารับถึงแหล่งกำเนิด ไม่ว่าจะเป็นตามชุมชน ห้าง ตลาด โรงเรียน และอื่นๆ โดยสำหรับหลายรายผู้แยกสามารถโทรแจ้งล่วงหน้าได้อย่างน้อย 1 วัน หรือจองเวลาผ่านแอพพลิเคชั่น อาจจะเป็น 2 อาทิตย์ครั้ง หรือเดือนละครั้ง แล้วแต่ปริมาณรีไซเคิลที่แยกได้

2.รับตามจุด

มีภาคีอีกมากที่มีจุดรับของรีไซเคิลตั้งอยู่ตามจุดต่างๆ เช่น ห้าง สถานีบริการน้ำมัน และอื่นๆ รวมถึงจุด drop off “มือวิเศษ กรุงเทพฯ” ที่ กทม.ร่วมกับภาคีตั้งจุดรับวัสดุรีไซเคิลในทุกสำนักงานเขตและศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 แห่ง รับภาชนะเช่น ขวด PET พลาสติกยืด HDPE รวมถึงขยะกำพร้า

แล้วสำหรับบ้านเรือนทั่วไปที่อยากแยกขยะจะต้องทำยังไง?

ปัจจุบันรถเก็บขยะของ กทม.ทุกคัน มีช่องที่อยู่ท้ายพนักการขับสีเหลืองและส้ม สำหรับขยะประเภทรีไซเคิล และอันตราย ซึ่งนอกจากนั้น มี นโยบายที่เพิ่มถังขยะสำหรับเศษอาหารวางไว้ในช่องนั้นเช่นกัน ซึ่งทุกบ้านเรือนสามารถแยกขยะเป็น 2 ถุง เขียนอะไรง่ายๆ ที่บ่งบอกว่าถุงนั้นเป็นขยะเปียก (หรือใช้ถุงใสให้เห็นข้างใน) รีไซเคิล หรือขยะอันตราย แล้วเจ้าหน้าที่จะแยกไปใส่ช่องและถังเฉพาะ ถ้าลองแล้วยังเห็นว่าเจ้าหน้าที่เทรวมอยู่ สามารถแจ้งไปที่เขตหรือแจ้งผ่าน traffy fondue ได้

ทุกๆ ครั้งที่มีคนถามว่าจะทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จเรื่องการแยกขยะ คำตอบที่สำคัญที่สุดคือเรื่อง “ความเชื่อมั่น” ถ้าประชาชนเชื่อว่าการมีระบบการจัดการขยะที่น่าไว้ใจ มีทางไปของขยะ เปียก แห้ง และอื่นๆ ที่ชัดเจน จะทำให้เรื่องการแยกขยะที่เรามักมองว่าเป็นเรื่องท้าทายและทำได้ยากกลับกลายเป็นจริงในที่สุด

ความคิดเห็นของคุณ
*
*
ความคิดเห็น
4/10/2567 0:24
Mr.

1

4/10/2567 0:24
Mr.

1

4/10/2567 0:25
Mr.

1

4/10/2567 0:25
Mr.

1